เรารู้ว่าชาวยุโรปเป็นผู้ค้นพบทวีปอเมริกาหรือที่พวกเขาเรียกว่า ‘โลกใหม่’ (New World) ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 15 หรืออาจจะย้อนกลับไปได้ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 10 เมื่อชาวนอร์สพยายามตั้งนิคมในอเมริกาเหนือ
ว่าแต่สงสัยไหมว่า ในเมื่อชาวยุโรปแล่นเรือจนมาถึงทวีปอเมริกาได้ แล้วทำไมทวีปอเมริกาที่เป็นตั้งของอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่อย่างแอซเท็กหรือมายา ผู้คนในทวีปแห่งนี้ถึงไม่ได้ออกแล่นเรือข้ามมาสำรวจยุโรปบ้าง
ในข้อสงสัยนี้ นักเขียนชื่อดังอย่างจาเร็ด ไดมอนด์ (Jared Diamond) ก็ได้ให้คำตอบผ่านหนังสือ ปืน เชื้อโรค เหล็กกล้า กับชะตากรรมของสังคมมนุษย์ (Guns, Germs, and Steel : The Fates of Human Societies) ของเขาไว้ว่า เกิดจากสองปัจจัยหลักนั่นก็คือพืชผลทางการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์
เมื่อหลายล้านปีก่อน ทุกทวีปบนโลกของเราเคยเป็นหนึ่งเดียวมาก่อนในชื่อมหาทวีปแพนเจีย (Pangaea) จนกระทั่งประมาณ 200 ล้านปีที่แล้ว แพนเจียก็ค่อย ๆ แยกตัวจนกลายเป็นทวีปแบบที่รับรู้กันในปัจจุบัน
ราว 6-7 ล้านปีที่แล้ว มนุษย์ถือกำเนิดขึ้นในแอฟริกา ก่อนที่ราว 300,000 ปีที่แล้ว โฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) สายพันธุ์มนุษย์ของพวกเราจะอุบัติขึ้น และเริ่มต้นแพร่ขยายครอบครองโลก
แต่มีปัญหาอยู่ข้อหนึ่ง นั่นก็คือคือยูเรเซีย (ยุโรปรวมกับเอเชีย) และทวีปอเมริกาแยกจากกันโดยมีช่องแคบแบริ่งกั้นขวางไว้ แม้จะมีความเฉลียวฉลาดมากมาย แต่มนุษย์ในตอนนั้นก็ไม่สามารถเดินทางจากไซบีเรียข้ามไปยังอลาสก้าได้
อย่างไรก็ตามสิ่งที่เรียกว่า ยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย (Last Glacial Maximum) ที่เกิดขึ้นในช่วง 29,000-19,000 ปีที่แล้ว ทำให้เกิดสะพานแผ่นดินที่เชื่อมสองทวีปนี้ไว้ มนุษย์จากยูเรเซียจึงเดินทางข้ามไปยังอเมริกา และครอบครองพื้นที่ตั้งแต่อลาสก้าจนถึงใต้สุดของอเมริกาใต้
แต่เมื่อปรากฎการณ์นี้สิ้นสุดลง ระดับน้ำทะเลกลับมาสูงขึ้น บรรพบุรุษของชนพื้นเมืองอเมริกา ก็ถูกตัดขาดจากญาติพี่น้องชาวยูเรเซีย และเป็นเวลานับหมื่นปีกว่าที่คนทั้งสองทวีปจะกลับมาพบกันอีกครั้ง
การถูกตัดขาดเป็นหมื่นปี ทำให้ผู้คนในยูเรเซียและอเมริกามีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันอย่างมาก ในพื้นที่พระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ (Fertile Crescent) ในอียิปต์และเมโสโปเตเมีย ธัญพืชอย่างเช่นข้าวบาร์เลย์ ถั่วชิกพี และแฟลกซ์ พืชเหล่านี้เพาะปลูกง่าย เจริญเติบโตเร็ว ย่อยง่าย และให้พลังงานสูง
แฟลกซ์และข้าวบาร์เลย์ ยังเป็นธัญพืชที่สามารถพบได้นอกพื้นที่พระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ แต่ไม่นานธัญพืชชนิดอื่น ๆ ก็ถูกส่งออกและเพาะปลูกไปทั่วยูเรเซีย
แต่ขณะที่พืชผลในอเมริกา แม้จะเป็นพืชที่ให้ผลผลิตสูง (หมายถึงมีโปรตีนและให้พลังงานสูง) แต่พืชเหล่านี้มักต้องการสภาพแวดล้อมที่เฉพาะเจาะจงอย่างมาก และใช้แรงงานในการเพาะปลูกมากกว่า
ที่สำคัญกว่านั้น พืชท้องถิ่นของอเมริกาอย่างมะเขือเทศ สควอช มันฝรั่ง และพริก ก็ไม่สามารถเก็บรักษาได้นานเหมือนกับธัญพืชแห้ง ส่วนธัญพืชเช่นข้าวโพดที่สามารถเก็บรักษาได้นาน ก็ให้สารอาหารที่น้อยกว่าหากเทียบกับธัญพืชชนิดอื่นอย่างข้าวสาลีหรือข้าวบาร์เลย์ของยูเรเซีย และต้องผ่านกระบวนการแปรรูปที่ยากกว่ากว่าที่จะรับประทานได้
ดังนั้นผู้คนในยูเรเซียที่มีอาหารที่ให้สารอาหารและพลังงานที่ง่ายกว่าและสูงกว่า จึงทำให้ประชากรเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ประชากรที่มากขึ้น ก็หมายถึงอาชีพต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นตามมา ผู้คนจึงไม่จำเป็นต้องทำการเกษตรเพียงอย่างเดียว พวกเขาสามารถไปทำอย่างอื่น โดยเฉพาะการสร้างองค์ความรู้ อย่างเช่น วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ วรรณกรรม และปรัชญา เลยเป็นเหตุผลที่ว่า ในเวลาไม่กี่พันปีเท่ากัน คนยูเรเซียจึงมีปืน ส่วนคนในอเมริกาไม่มี
แต่ปืนกลับไม่ใช่อาวุธที่ชาวยูเรเซียใช้พิชิตโลกใหม่ แต่เป็นเชื้อโรคต่างหาก ประชากรพื้นเมืองในอเมริกามากถึง 95% หรือราว 20 ล้านคน เสียชีวิตจากโรคระบาดที่ติดตัวมากับชาวยุโรป เพราะพวกเขาปราศจากภูมิคุ้มกันของโรคเหล่านี้
แล้วอะไรที่ให้คนสองกลุ่มมีหรือไม่มีภูมิคุ้มกันโรค คำตอบก็คือสัตว์ที่มีอยู่ในภูมิภาคนั้น ๆ โดยจาเร็ด ไดมอนด์ ได้ยกสิ่งที่เรียกว่า สัตว์กินพืชขนาดใหญ่ 14 ชนิด (14 Big Herbivorous Animals) ที่ประกอบด้วยแกะ แพะ วัว หมู ม้า อูฐอาหรับ อูฐแบ็กเตรียน ลามะ (และอัลปากา) ลา กวางเรนเดียร์ ควาย จามรี วัวบาหลี และมิธาน
ในสัตว์ 14 ชนิดนี้ มีอยู่ 5 ชนิดหรือ Major Five ที่มีความสำคัญที่สุดคือแกะ แพะ วัว หมู และม้า สัตว์ทั้งห้าชนิดมีบทบาทสำคัญเพราะถูกนำไปใช้ประโยชน์ทั้งเป็นอาหารให้กับมนุษย์ มอบผลผลิต ทำเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงใช้ในการคมนาคม
ประเด็นสำคัญคือ สัตว์ที่เป็น Major Five ล้วนเป็นสัตว์ที่มีถิ่นกำเนิดในยูเรเซีย ขณะที่อเมริกามีเพียงแค่ลามะและอัลปากาเท่านั้น ที่มีถิ่นกำเนิดในเทือกเขาแอนดีสในอเมริกาใต้
การที่ยูเรเซียมีสัตว์สำคัญหลายชนิดทำให้ได้เปรียบเหนืออเมริกา โดยเฉพาะข้อได้เปรียบที่ว่า สัตว์เหล่านี้เป็นต้นตอของโรคระบาดร้ายแรงหลายโรค (รวมถึงแมลงพาหะที่อยู่ใกล้กับสัตว์เหล่านี้) ทำให้คนยูเรเซียมีโอกาสสร้างภูมิคุ้มกันจากการใกล้ชิดสัตว์ที่เป็นต้นตอของโรค ตรงข้ามกับคนในอเมริกาที่ไม่มี
“พวกมันมอบเนื้อ ผลิตภัณฑ์นม ปุ๋ย ยานพาหนะทางบก หนัง รถจู่โจมทางทหาร รถไถ และขนสัตว์ รวมถึงเชื้อโรคที่ฆ่าผู้คนที่ไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อน” จาเร็ด ไดมอนด์กล่าว
อย่างไรก็ตามปัจจัยเรื่องพืชผลและสัตว์ ก็ไม่สามารถอธิบายข้อสงสัยได้ทั้งหมดว่า ทำไมคนในอเมริกาไม่เดินทางข้ามทะเลมายังยุโรป เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่ยังไม่ถูกพิจารณา ทั้งเรื่องวัฒนธรรม อุดมการณ์ทางการเมือง ความเชื่อ ศาสนา ภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเกิดขึ้นมาของบุคคลผู้ยิ่งใหญ่หรือยอดอัจฉริยะ
-----
อ้างอิง
• Big Think. Why didn’t the Aztecs invade Europe?.
https://bigthink.com/.../why-didnt-the-aztecs-invade-europe/• Britannica. last glacial maximum.
https://www.britannica.com/science/Last-Glacial-Maximum#HistofunDeluxe
https://web.facebook.com/photo/?fbid=1025320292933753&set=a.439959818136473