อัพเดตข่าวยูเครน วันที่ 153 ของสงคราม Part 1
1. สถานการณ์ด้านก๊าซธรรมชาติของเยอรมนียังคงขาดเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง หลังจากเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ทางรัสเซียได้ทำการลดกำลังการส่งก๊าซให้เยอรมนีเหลือเพียง 40% แต่เมื่อวานนี้ รัสเซียได้ประกาศออกมาอีกครั้งว่าจะทำการลดกำลังการส่งก๊าซให้เหลือเพียง 20% เท่านั้น
เมื่อวานนี้ บริษัทแกสพรอม (PJSC Gazprom) รัฐวิสาหกิจด้านกิจการน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย ได้แจ้งแก่ทางการเยอรมนีว่าพวกเขาจะทำการปรับลดก๊าซธรรมชาติผ่านทางท่อส่งก๊าซ Nord Stream 1 ซึ่งมีกำลังการส่งก๊าซในปัจจุบันอยู่ที่ 67 ล้าน ลบ.ม./วัน ให้เหลือเพียง 33 ล้าน ลบ.ม./วัน จากกำลังการส่งก๊าซสูงสุด 167 ล้าน ลบ.ม./วันในช่วงก่อนสงคราม เท่ากับว่ากำลังส่งก๊าซของ Nord Stream 1 นั้นจะมีปริมาณเหลือเพียงแค่ 20% ที่เยอรมนีสมควรได้รับเท่านั้น
แน่นอนว่าเหตุผลของทางแกสพรอมนั้นไม่ต่างกับที่แกสพรอมเคยอ้างก่อนหน้านี้ นั่นคือกล่าวว่าเหตุผลที่ต้องทำการลดการจ่ายก๊าซให้เป็นเพราะเครื่องยนต์กังหันในการสูบก๊าซนั้นชำรุดเสียหาย ในขณะที่หลายฝ่ายเชื่อว่าเหตุผลหลักจริงๆ มาจากรัฐบาลรัสเซีย ภายใต้การนำของ ปธน.ปูติน ต้องการที่จะตอบโต้ชาติตะวันตก โดยเฉพาะเยอรมนีที่ยังคงให้การสนับสนุนยูเครนอย่างต่อเนื่อง
ทางด้านสหภาพยุโรปนั้น จะมีกำหนดการจัดงานประชุมระหว่างรัฐมนตรีพลังงานของชาติสมาชิกภายในวันนี้ เพื่อพิจารณาถึงแนวทางในการรับมือกับราคาพลังงานผันผวน การสำรองพลังงาน และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับมือกับฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงในปลายปีนี้
2. ข่าวลือเรื่องโปแลนด์จะทำการจัดซื้ออาวุธครั้งใหญ่จากเกาหลีใต้ภายในเร็วๆ นี้เริ่มมีเค้าลางความจริงมากยิ่งขึ้น เมื่ออดีตนายทหารเกษียณอายุของเกาหลีใต้และเจ้าหน้าที่ไม่เปิดเผยนามจากรัฐบาลเกาหลีได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงรายละเอียดของโครงการจัดซื้อในครั้งนี้
ผู้ออกมาให้ข้อมูลยืนยันข่าวลือคือนายชอนอินบอม (Chun In-bum) อดีตนายทหารยศพลโทสังกัดกองทัพเกาหลีใต้ เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชากองบัญชาการสงครามพิเศษสาธารณรัฐเกาหลี (R.O.K. Army Special Warfare Command) ระหว่างปี 2013-2016 ได้ออกมามาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวสายทหาร The War Zone กับอีกรายหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากสำนักประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่ไม่เปิดเผยนามซึ่งได้ให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าว Defense News ถึงรายละเอียดของการซื้อขายอาวุธในครั้งนี้
ทั้งสองกล่าวว่า จะมีการลงนามอย่างเป็นทางการระหว่างโปแลนด์และเกาหลีใต้ภายในวันที่ 27 ก.ค. ที่จะถึงนี้ โดยโครงการจะมีมูลค่ามากกว่า 14,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (530,000 ล้านบาท) มากเป็น 2 เท่าของข่าวลือในตอนแรกที่ว่าโครงการจะมีมูลค่าเพียง 7,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (280,000 ล้านบาท) เท่านั้น โดยรายละเอียดของการจัดซื้อในครั้งนี้จะประกอบไปด้วย
2.1 โครงการจัดหารถถังแบบ K2 Black Panther จากบริษัท Hyundai Rotem Co. จำนวน 180 คัน มูลค่าประมาณ 3 ล้านล้านวอน (2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ / 84,600 ล้านบาท) และคาดว่าจะมีการสั่งซื้อเพิ่มเติมอีกราว 400 คัน ภายในปี 2030 มูลค่าประมาณ 8 ล้านล้านวอน (6,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ / 220,000 ล้านบาท)
2.2 โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่เบาแบบ FA-50 Golden Eagle จากบริษัท Korea Aerospace Industries Ltd. จำนวน 48 ลำ มูลค่าประมาณ 3.4 ล้านล้านวอน (2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ / 95,000 ล้านบาท) โดยคาดว่าเครื่องบิน 8 ลำแรกจะสามารถส่งมอบให้ได้ภายในสิ้นปีนี้
2.3 โครงการจัดหาปืนใหญ่วิถีโค้งอัตตาจรแบบ K9 Thunder จากบริษัท Hanwha Defense จำนวน 670 คัน มูลค่าประมาณ 4 - 5 ล้านล้านวอน (3,000 - 3,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ / 110,000 - 140,000 ล้านบาท)
2.4 โครงการอื่นๆ ที่กล่าวถึงรายละเอียดเพียงคร่าวๆ ประกอบด้วยการจัดหารถรบทหารราบรุ่น AS21 Redback รวมถึงมิสไซล์ต่อต้านอากาศยาน/ต่อต้านจรวดขีปนาวุธรุ่น KM-SAM Block 2 จากบริษัท LIG Nex1 Co., Ltd.
อย่างไรก็ดี ทั้งหมดทั้งมวลยังเป็นข่าวลือทีต้องรอการยืนยันอย่างเป็นทางการอีกทีหนึ่ง ต้องรอลุ้นว่าภายในวันพุธ-พฤหัสบดีนี้เราจะได้ยินข่าวเรื่องนี้อย่างเป็นทางการอีกทีหรือไม่
3. ถือเป็นข่าวดีเล็กน้อยของฝ่ายยูเครน เมื่อประธานาธิบดีอเลฮานโดร จิอัมมัตเตย์ (Alejandro Giammattei) แห่งกัวเตมาลา ชาติขนาดเล็กในภูมิภาคอเมริกากลาง ได้ทำการเดินทางมายังกรุงเคียฟเมื่อวานนี้ และได้เข้าพบกับ ปธน.เซเลนสกี้ของยูเครน นับเป็นผู้นำคนแรกในประเทศกลุ่มลาตินอเมริกาที่แสดงท่าทีสนับสนุนยูเครนอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่เกิดสงครามยูเครนขึ้น และยังเป็นผู้นำชาติลาตินอเมริกาคนแรกที่เดินทางเยือนยูเครนภายในรอบ 12 ปี
สำหรับผลลัพธ์ของการเดินทางครั้งนี้ แม้กัวเตมาลาจะเป็นประเทศขนาดเล็กและไม่สามารถให้ความช่วยเหลือให้แกยูเครนได้มากนัก แต่ทั้งสองก็ได้ทำข้อตกลงเรื่องการเดินทางโดยปลอดวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ และกัวเตมาลายังได้กล่าวจะร่วมสนับสนุนยูเครนในการผลักดันสหประชาชาติให้ก่อตั้งคณะตุลาการพิเศษ (Special Tribunal) เพื่อพิจารณาคดีอาชญากรรมสงครามของกองทัพรัสเซียภายในสงครามยูเครนด้วย