อัพเดตข่าวยูเครน วันที่ 155 ของสงคราม Part 1
1. ยูเครนเริ่มเข้าใกล้การเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปไปอีกหนึ่งก้าว เมื่อวานนี้นางอาดีน่า วาเลียน (Adina Vălean) กรรมาธิการยุโรปด้านการคมนาคมขนส่ง ได้ยื่นญัตติเสนอต่อคณะกรรมาธิการยุโรปเรื่องการแก้ไขร่างระเบียบการว่าด้วยโครงข่ายการคมนาคมยุโรป (Trans-European Transport Network) โดยการเสนอให้รวมประเทศมอลโดวาและยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสร้างเส้นทางคมนาคมในยุโรป เพื่อสะดวกต่อการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมในทั้งสองประเทศให้เชื่อมต่อกับสหภาพยุโรปได้สะดวกยิ่งขึ้น
ระเบียบการว่าด้วยโครงข่ายการคมนาคมยุโรปหรือ TEN-T เป็นชื่อเรียกของแผนการพัฒนาและการกำกับดูแลโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมภายในสหภาพยุโรปที่ดำเนินงานมาตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1990 ในปัจจุบันประกอบไปด้วย 9 เส้นทางโครงข่ายหลัก (Core Network Corridors) ครอบคลุมทั่วสหภาพยุโรป ซึ่งในร่างแก้ไขของระเบียบการฯ ที่นางวาเลียนเสนอต่อคณะกรรมาธิการยุโรปนั้น จะทำการเชื่อมต่อยูเครนและมอลโดวา ซึ่งในปัจจุบันมีสถานะเป็น “ผู้สมัครสมาชิก” (Candidate Status) ของสหภาพยุโรป เข้ากับเส้นทางโครงข่ายของ TEN-T จำนวน 4 เส้นทาง คือ
1.1 ยูเครนจะถูกเชื่อมเข้ากับเส้นทางทะเลเหนือ-บอลติก (North Sea-Baltic Corridor) ผ่านโปแลนด์ เส้นทางบอลติก-เอเดรียติก (Baltic-Adriatic Corridor) ผ่านฮังการี เส้นทางไรน์-ดานูบ (Rhine-Danube Corridor) ผ่านสโลวาเกีย และเส้นทางบอลติก-ทะเลดำ-อีเจียน (Baltic-Black-Aegean Corridor) ผ่านโรมาเนีย
1.2 มอลโดวาจะถูกเชื่อมเข้ากับเส้นทางบอลติก-ทะเลดำ-อีเจียนผ่านโรมาเนีย
นอกจากนี้ ภายในร่างแก้ไขของระเบียบการฯ ยังเสนอให้ทำการตัดประเทศรัสเซียและเบลารุสออกจากการเชื่อมต่อเข้ากับโครงข่ายการคมนาคมของสหภาพยุโรป เพื่อตอบโต้ต่อทั้งสองประเทศที่ทำการรุกรานยูเครน แต่ในกรณีของเบลารุส ภายในร่างระเบียบการฯ ได้เสนอว่าหากทางเบลารุสสามารถเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยได้สำเร็จ ทางคณะกรรมาธิการยุโรปก็สามารถพิจารณานำเบลารุสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่าย TEN-T ของสหภาพยุโรปได้อีกครั้งหนึ่ง
ภาพประกอบ แสดงแผนที่โครงข่ายของ TEN-T ในร่างระเบียบการฯ ฉบับแก้ไข
2. นอกจากเรื่องของสหภาพยุโรปแล้ว อีกหนึ่งข่าวดีสำหรับกองทัพยูเครนคือเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ชิ้นใหม่ สำนักข่าว Der Spiegel ของเยอรมนีได้รายงานว่าทางรัฐบาลเยอรมนีได้อนุมัติคำขอของบริษัทผู้พัฒนาอาวุธ KMW (Krauss-Maffei Wegmann GmbH & Co. KG) ให้สามารถทำการผลิตและส่งออกปืนใหญ่อัตตาจรรุ่น PzH 2000 จำนวน 100 คัน รวมมูลค่ากว่า 1,700 ล้านยูโร (63,000 ล้านบาท) ให้แก่กองทัพยูเครนได้
ทั้งนี้ กองทัพเยอรมนีได้ทำการส่งมอบปืนใหญ่อัตตาจรรุ่น PzH 2000 ให้แก่กองทัพยูเครนไปแล้วจำนวน 10 คัน ซึ่งทั้งหมดมาจากคลังสำรองภายในกองทัพเยอรมนี แต่ PzH 2000 ชุดใหม่ที่ยูเครนสั่งซื้อนั้นจะเป็นการผลิตขึ้นใหม่ทั้งหมดโดยบริษัท KMW ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังไม่มีการเปิดเผยออกมาว่าจะสามารถเริ่มกระบวนการผลิตได้เมื่อใด และปืนใหญ่ชุดแรกมีกำหนดการส่งมอบให้แก่ยูเครนเมื่อใด
3. หลังจากที่พึ่งทำการประกาศออกมาว่ารัสเซียวางแผนจะถอนตัวจากการเข้าร่วมสถานีอวกาศนานาชาติอย่างเป็นทางการภายในปี 2024 มาในวันนี้ดูเหมือนว่าจะมีการเปลี่ยนแผนเล็กน้อยสำหรับรัสเซีย หลังจากมีรายงานว่ารัสเซียจะยังไม่ถอนตัวจากสถานีอวกาศนานาชาติ และคาดว่าจะยังดำเนินงานด้านอวกาศร่วมกับชาติอื่นๆ ไปจนถึงปี 2028 เป็นอย่างน้อย
รายงานใหม่นี้อ้างอิงข้อมูลจาก 2 ที่มา หนึ่งคือรายงานข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) ว่าทางองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration) หรือนาซา (NASA) ของสหรัฐยังไม่ได้รับรายงานหรือการติดต่อใดๆ จากทางรอสคอสมอส (State Space Corporation "Roscosmos") รัฐวิสาหกิจด้านกิจการอวกาศของรัสเซีย เรื่องการแยกตัวจากการปฏิบัติการร่วมกับองค์กรอวกาศของชาติอื่นๆ บนสถานีอวกาศนานาชาติหรือ ISS (International Space Station) ภายในปี 2024 อย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
อีกแหล่งข้อมูลหนึ่งที่อาจบอกรายละเอียดของแผนงานใหม่ของรอสคอสมอสได้แน่ชัด คือบทสัมภาษณ์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาของนายวลาดิเมียร์ โซโลวอฟ (Vladimir Solovyov) ผู้อำนวยการการบินรัสเซียประจำสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งในบทสัมภาษณ์นายโซโลวอฟได้กล่าวถึงแผนการสร้างสถานีวงโคจรรัสเซียหรือ ROSS (Russian Orbital Service Station) เอาไว้ด้วย รายละเอียดสำคัญคือ
3.1 สถานี ROSS จะโคจรอยู่บนชั้นบรรยากาศโลกที่ความสูง 334 กม. เหนือพื้นดิน ต่ำกว่าสถานีอวกาศนานาชาติที่มีความสูงเหนือพื้นโลกอยู่ที่ 408 กม. จุดประสงค์หลักคือการทดลองและการสังเกตการณ์รังสีและอนุภาคต่างๆ บริเวณขั้วโลก
3.2 สถานี ROSS จะเป็นสถานีไร้มนุษย์ ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติหรือระบบสั่งการจากสถานีควบคุมภาคพื้นดินเป็นหลัก บางครั้งจะมีการส่งนักบินอวกาศขึ้นไปประจำการประมาณ 30-60 วัน เพื่อทำการทดลองบางประการหรือเพื่อทำการซ่อมบำรุงสถานี
3.3 การดำเนินงานเฟสแรกจะเริ่มขึ้นโดยการยิงจรวดบรรทุกโมดูลแหล่งพลังงาน (NEM-1) ขึ้นไปบนอวกาศภายในปี 2026 ตามด้วยโมดูลหลักของสถานีอวกาศภายในปี 2028 ซึ่งนายโซโลวอฟกล่าวว่าหากการส่งโมดูลหลักประสบความสำเร็จตามแผน สถานี ROSS ก็จะสามารถเริ่มการทำงานได้ในทันที แต่จะยังมีการยิงจรวดบรรทุกโมดูลของสถานีอวกาศเพิ่มเติมจนเฟสแรกเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2030
3.4 นายโซโลวอฟยังกล่าวต่อไปว่าเขาสนับสนุนให้รัสเซียปฏิบัติงานร่วมกับองค์กรอวกาศของชาติอื่นๆ บนสถานีอวกาศนานาชาติต่อไปจนถึงปี 2028 เป็นอย่างน้อย เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างเรื่องทักษะและประสบการณ์ของนักบินอวกาศรัสเซีย