แหล่งนิยายแปล แหล่งนิยาย นิยายแปล นิยายแต่ง มังงะ การ์ตูน อนิเมะ นายท่าน เว็บไซต์นายท่าน กระทู้สไลม์ สไลม์ยอดรัก

ผู้เขียน หัวข้อ: ความรู้ที่เราฝากไว้ในอนาคต  (อ่าน 321 ครั้ง)

ออฟไลน์ moneyisgod

  • เครื่องปั้มแห่งห้องรับแขก
  • แม่ทัพหมีอาวุโส
  • ****
  • กระทู้: 4,877
  • ถูกใจแล้ว: 2914 ครั้ง
  • ความนิยม: +313/-358
ความรู้ที่เราฝากไว้ในอนาคต
« เมื่อ: สิงหาคม 28, 2022, 06:21:10 PM »


เน้นซื้อไม่เน้นอ่าน เมื่อ “กองดอง” ไม่ใช่ความสูญเปล่า แต่คือความรู้ที่เราฝากไว้ในอนาคต
.
ซื้อหนังสือมาสะสมไว้แต่ไม่ยอมอ่าน หรือที่มีศัพท์แสลงเรียกกันว่า “กองดอง” ไพเราะหน่อยก็เรียกว่า “กองรออ่าน” ได้กลายเป็นพฤติกรรมระดับนานาชาติ ที่มีมายาวนานจนถึงกับมีศัพท์บัญญัติไว้ตั้งแต่สมัยโบราณ แต่อย่าเพิ่งรู้สึกผิด หรือกระทั่งออกความเห็นว่าพฤติกรรมเช่นนี้เป็นความสูญเปล่า เพราะมีเหตุผลทางจิตวิทยาที่รองรับว่าการเป็นเจ้าของ “กองดอง” ไม่ส่งผลเสียอะไร ทั้งยังดีต่อสุขภาพใจเสียด้วยซ้ำ
.
ไม่ใช่เรื่องแปลกหากใครจะชอบซื้อหนังสือมาสะสมไว้แต่ไม่ยอมอ่าน แบบที่เทศกาลหนังสือมาถึงทีไรก็ไปขนกลับมา ”ดอง” รวมไว้กับเล่มเมื่อคราวก่อน โดยพฤติกรรมนี้เป็นที่แพร่หลายทั่วไปในหมู่นักอ่านทั่วโลก ยกตัวอย่างก็เช่น อุมแบร์โต เอโค (Umberto Eco) นักเขียนชาวอิตาเลียนผู้เลื่องชื่อ เจ้าของผลงานสุดคลาสสิกอย่าง The Name of the Rose ที่เคยเปิดเผยว่า เขาเป็นนักสะสมหนังสือตัวยง โดยมีในครอบครองมากถึง 30,000 เล่ม และแน่นอนว่าเขาอ่านมันไม่ครบทุกเล่มหรอก!
.
เป็นเรื่องน่ายินดีที่พฤติกรรมนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั้งมีมายาวนานจนชาวญี่ปุ่นถึงกับบัญญัติคำศัพท์ไว้ตั้งแต่สมัยเมจิ โดยปรากฏคำว่า “ซุนโดคุ” (Tsundoku) ที่ใช้อธิบายถึงผู้ที่เป็นเจ้าของหนังสือที่ยังไม่ได้อ่านจำนวนมาก โดยเกิดจากการรวมกันของสองคำคือ โดคุ (doku) ที่ใช้เป็นคำกริยาแปลว่า อ่าน และ ซุน (tsun) ที่มาจากคำว่า tsumu มีความหมายว่า กองพะเนิน
.
นอกจากคำว่าซุนโดคุแล้ว ยังมีอีกคำศัพท์คือ “บิบลิโอมาเนีย” (bibliomania) ซึ่งเป็นชื่อของนวนิยายในศตวรรษที่ 19 ของ โธมัส ฟร็อกนัลล์ ดิบดิน (Thomas Frognall Dibdin) ที่พาไปสำรวจความหมกมุ่นบ้าคลั่งของนักสะสมหนังสือ เช่น นักสะสมหนังสือฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก นักสะสมหนังสือฉบับที่มีภาพประกอบ อย่างไรก็ดี อีก 200 ปีต่อมา คำว่า บิบลิโอมาเนีย ก็ไม่ถูกตีความว่าเป็นพฤติกรรมบ้าคลั่งอีกต่อไป แต่ถูกเปลี่ยนไปโดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด (Oxford University Press) ที่ให้หมายถึงไว้ว่าเป็นความหลงใหลในการสะสมหนังสือแทน
.
แม้จะมีความคล้ายคลึง แต่ “ซุนโดคุ” และ “บิบลิโอมาเนีย” ก็ไม่เหมือนกันซะทีเดียว เพราะ บิบลิโอมาเนีย สื่อถึงความตั้งใจในการสะสมหนังสือมาแต่เริ่มแรก ในขณะที่ ซุนโดคุ คือพฤติกรรมที่อยากได้หนังสือเล่มโน้นเล่มนี้มาอ่าน จนกลายเป็นการสะสมโดยไม่ตั้งใจ
.
#การอ่านหนังสือช่วยพัฒนาตัวตน
.
ทราบกันดีว่า ผู้นำระดับโลกหลายคนต่างก็เป็นนักอ่าน มีบทสัมภาษณ์ที่ระบุว่า บิล เกตส์ (Bill Gates) อ่านหนังสือเฉลี่ย 50 เล่มต่อปี วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill) อ่านหนังสือมาทั้งชีวิต โดยเป็นแฟนทั้งนิยายวิทยาศาสตร์ วรรณกรรมคลาสสิก รวมถึงหนังสือประวัติศาสตร์ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ในวัยเด็กอ่านนิยายวิทยาศาสตร์มากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนวอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ก็ใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือเฉลี่ยวันละ 5-6 ชั่วโมง
.
แน่นอนว่าคนดังเหล่านี้อ่านหนังสือเยอะ แต่สิ่งที่ยังไม่มีใครเคยบอก คือพวกเขาก็อาจเป็นหนึ่งในสมาชิก “ซุนโดคุ” เช่นเดียวกับพวกเราก็ได้
.
การอ่านเต็มไปด้วยข้อดี มีงานวิจัยที่ระบุว่าการอ่าน “วรรณกรรม” ช่วยเพิ่มความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นแบบที่อริสโตเติลเคยกล่าวว่า เมื่อเราชมโศกนาฏกรรม เราจะถูกครอบงำด้วยสองอารมณ์คือ ความสงสาร (ตัวละคร) และความกลัว (สำหรับตัวเราเอง) เราจะจินตนาการว่าตัวละครรู้สึกเช่นไร และเปรียบเทียบปฏิกิริยาของตัวละครกับวิธีที่เราเคยรับมือกับสถานการณ์ในอดีต หรือจินตนาการว่าสิ่งนั้นอาจจะเกิดขึ้นกับเราในอนาคต
.
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า เด็กที่เติบโตขึ้นในบ้านที่มีหนังสือระหว่าง 80 ถึง 350 เล่ม จะมีทักษะด้านการอ่านออกเขียนได้ การคิดเลข และการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ นักวิจัยยังแนะนำว่า เราสามารถเพิ่มขีดความสามารถทางสติปัญญาเหล่านี้ได้ ด้วยการส่งเสริมให้การอ่านเป็นส่วนหนึ่งในกิจวัตรประจำวัน
.
#อะไรที่ขัดขวางความสามารถในการอ่านเมื่อเราเติบโตขึ้น
.
ภารกิจของการเป็นผู้ใหญ่อาจไม่อนุญาตให้เรามีเวลาอ่านหนังสือมากนัก วิถีชีวิตอันวุ่นวายช่วงชิงเวลาของเราเพื่อมอบให้กับสิ่งอื่น ทว่าเมื่อความหลงใหลในการอ่านหนังสือยังคงมีอยู่ จึงอาจปรากฏในรูปแบบของการซื้อหนังสือมาสะสม แม้ไม่รู้ว่าจะมีเวลาอ่านหรือไม่ก็ตาม
.
นาซิม นิโคลัส ทาเลบ (Nassim Nicholas Taleb) นักสถิติและนักเขียนเจ้าของทฤษฎีหงส์ดำ (Black Swan) เชื่อว่าการถูกแวดล้อมด้วยหนังสือที่ยังไม่ถูกอ่านช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับชีวิตเรา เพราะมันย้ำเตือนถึงสิ่งที่เรายังไม่รู้
.
มาเรีย โปโปวา (Maria Popova) นักเขียนชาวบัลแกเรีย แสดงความเห็นว่า มนุษย์มักประเมินค่าสิ่งที่เรารู้สูงเกินไป และประเมินค่าสิ่งที่เราไม่รู้ต่ำเกินไป การสะสมหนังสือที่ไม่ได้อ่านจึงเป็นการบอกว่าเรายังรู้ไม่มากพอ และเป็นแรงผลักดันให้เราอยากที่จะเรียนรู้ต่อไป
.
คาเรน แอนน์ โฮป แอนดรูว์ส (Karen Anne Hope Andrews) นักจิตวิทยาในดูไบกล่าวว่า หนังสือที่ยังไม่ได้อ่านมักจะน่าตื่นเต้นกว่าหนังสือที่อ่านแล้ว เพราะหนังสือที่ยังไม่ได้อ่านคือโลกที่รอการสำรวจ และการได้ซื้อหนังสือก็สร้างความพึงพอใจให้กับเราไม่ต่างจากการซื้อสิ่งของที่อยากได้อื่น ๆ
.
ขณะเดียวกัน ประเภทและจำนวนของหนังสือยังสัมพันธ์กับตัวตนในด้านลึกของเรา ทั้งระดับสติปัญญา ความใฝ่ฝัน การควบคุมตนเอง การบริหารเวลา และมุมมองที่เรามีต่อชีวิต ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะมีหนังสือที่ยังไม่ได้อ่านเป็นจำนวนมาก เพราะเมื่อเรามองดูกองหนังสือเหล่านั้น เราย่อมเห็นโอกาสและผลประโยชน์ในอนาคตที่เราจะได้รับ
.
ในอีกแง่หนึ่ง หนังสือถูกนับให้เป็น “ประสบการณ์” มากกว่า “สิ่งของ” เราจึงไม่รู้สึกผิดที่จะเพิ่มจำนวนประสบการณ์ เพราะประสบการณ์เชื่อมโยงกับตัวตน และการซื้อประสบการณ์มาครอบครอง ก็ให้ทำความสุขของเราเสร็จสมบูรณ์นับตั้งแต่ได้จ่ายเงินแล้ว
.
#จะลดปริมาณกองดองได้อย่างไร
.
อันที่จริงการสะสมหนังสือไว้แต่ไม่อ่าน ไม่ใช่ความผิดหรือเป็นเรื่องน่าละอายแต่อย่างใด อย่างที่สมาคมจิตแพทย์อเมริกันระบุว่า พฤติกรรมที่ว่านี้ไม่ใช่ความผิดปกติ ตราบใดที่การสะสมหนังสือนั้นไม่ได้ทำร้ายสุขภาพหรือความสัมพันธ์ทางสังคม แต่หากใครอยากทลายกองดองจริง ๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร อาจเริ่มจากการจัดลำดับความสำคัญของหนังสือที่อยากอ่าน จากนั้นกำหนดเวลาขั้นต่ำสำหรับการอ่านในแต่ละวัน และพยายามชะลอการซื้อหนังสือเล่มใหม่ ๆ หรือหากอยากปลดปล่อยตัวเองจากการเป็นซุนโดคุแบบหักดิบ ก็แค่ส่งต่อ “กองดอง” เหล่านั้นให้กับผู้อื่นที่ต้องการต่อไป
.
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่

https://www.creativethailand.org/view/article-read?article_id=33661&lang=th&fbclid=IwAR1bkFub-asAxqL6lu6MDqvGLm5EB-teshmdBZHvRrZj3ssqgf5NVlN-Pfg

https://web.facebook.com/creativethailand/photos/a.407009826383/10158498545036384/

 ;D ;D ;D ;D ;D ;D
 
เหล่าหมีที่ถูกใจสิ่งนี้: Liverbird

ออฟไลน์ Liverbird

  • หมีเต็มตัว
  • *
  • กระทู้: 43
  • ถูกใจแล้ว: 35 ครั้ง
  • ความนิยม: +0/-3
Re: ความรู้ที่เราฝากไว้ในอนาคต
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: สิงหาคม 29, 2022, 04:20:17 AM »
ใช่ๆ  ในบทความกล่าวถูกต้องเลย  การอ่านวรรณกรรมช่วยเพิ่มความเห็นอกเห็นใจและช่วย
ส่งเสริมจินตนาการความรู้สึกเมื่อเราจินตนาการเป็นตัวละครนั้นๆ  บิลเกตส์เคยอ่านเฉลี่ย
ปีละห้าสิบเล่มเหรอ?  แพ้ผมแฮะมีช่วงนึงในชีวิตที่มีปีที่ผมเคยอ่านหนังสือไปร่วมหลักร้อย 
แต่อย่างว่าหล่ะ  เพราะของบิลเกตส์เฉลี่ยต่อปีอย่างสม่ำเสมอ
 

 

Tags:
แหล่งนิยายแปล แหล่งนิยาย นิยายแปล นิยายแต่ง มังงะ การ์ตูน อนิเมะ นายท่าน เว็บไซต์นายท่าน กระทู้สไลม์ สไลม์ยอดรัก