อัพเดตข่าวยูเครน วันที่ 66-67 ของสงคราม
1. ดูเหมือนว่าเหตุเพลิงไหม้ตามสถานที่สำคัญต่างๆ ของรัสเซียจะยังไม่ยุติง่ายๆ เมื่อวานนี้เกิดเหตุเพลิงไหม้ ณ โรงไฟฟ้าถ่านหินเกรสทู (GRES-2 Coal Powerplant) ในจังหวัดซาฮาลิน (Sakhalin Oblast) ในภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย ตั้งอยู่ทางเหนือของเกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี ทางการรัสเซียแถลงว่าไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด
มีความเป็นไปได้สองประการถึงสาเหตุไฟไหม้ในโรงไฟฟ้าเกรสทู หนึ่งคือเป็นเพียงอุบัติเหตุธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ผิดจังหวะเวลา และสองคือเป็นฝีมือของการโจมตีทางไซเบอร์จากชาติอื่นหรือกลุ่มแฮกเกอร์นิรนามที่ต้องการตอบโต้รัสเซีย ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การเกิดเหตุเช่นนี้ในช่วงเวลาที่กองทัพยูเครนประกาศว่าจะทำการตอบโต้รัสเซียโดยการโจมตีจุดยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศรัสเซีย เช่นค่ายทหาร คลังน้ำมัน ฯลฯ ย่อมส่งผลต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลรัสเซียอย่างมาก
2. นายอาร์เซน อวาคอฟ (Arsen Avakov) อดีต รมว.มหาดไทยยูเครน ออกมาเปิดเผยโดยอ้างว่ามาจากแหล่งข่าวในรัสเซีย ว่าตอนนี้ตัวเลขผู้เสียชีวิตของกองทัพรัสเซียและรัฐบริวารพุ่งสูงถึงประมาณ 42,000 นายแล้วเรียบร้อย โดยในจำนวนนี้สามารถแบ่งได้เป็น
1) ตัวเลขผู้เสียชีวิตของทหารรัสเซีย - 26,376 นาย
2) ตัวเลขผู้เสียชีวิตของทหารรับจ้างสังกัดรัสเซีย - 7,869 นาย
3) ตัวเลขผู้เสียชีวิตของทหารโดเนตสก์และลูฮันสก์ - ประมาณ 7,500 นาย (ไม่มีตัวเลขแน่ชัด)
รวมทั้งหมด 41,745 นาย
อย่างไรก็ดี คำพูดของนายอวาคอฟนั้นไม่ได้รับการยืนยันจากฝ่ายกลาโหมยูเครน รัสเซีย หรือชาติตะวันตกแต่อย่างใด จึงไม่อาจบอกได้แน่ชัดว่าตัวเลขดังกล่าวถูกต้องมากน้อยแค่ไหน
3. มีรายงานว่ากองทัพนอร์เวย์ได้นำปืนใหญ่อัตตาจรขนาด 155 ม.ม. แบบ M109 Paladin ซึ่งได้ปลดประจำการไปแล้วและเก็บสำรองไว้ในคลังสรรพาวุธ มาทำการทดสอบประสิทธิภาพปืนใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยจากทั้งหมด 55 คันในคลังสำรอง มีการนำ M109 Paladin มาทดสอบจำนวนทั้งหมด 20 คัน โดยทางการนอร์เวย์ปฏิเสธจะให้เหตุผลถึงสาเหตุการทดสอบปืนใหญ่ในครั้งนี้
คาดการณ์ว่านอร์เวย์จะมอบปืนใหญ่อัตตาจรรุ่นดังกล่าวให้แก่ยูเครน ซึ่งหากเป็นความจริง จะทำให้นอร์เวย์เป็นชาติล่าสุดต่อจากสโลวาเกีย เนเธอแลนด์ ฝรั่งเศส และโปแลนด์ ที่มอบปืนใหญ่วิถีโค้งอัตตาจร (Self-Propelled Howitzer) ให้แก่ยูเครน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพในการรุกของกองทัพยูเครนในสมรภูมิดอนบาสครั้งนี้ให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
นอกจากนอร์เวย์แล้ว เดนมาร์คยังเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ประกาศจะส่งมอบความช่วยเหลือทางทหารชุดใหม่ให้ยูเครน ซึ่งนางเมตเต เฟรเดอริกเซน (Mette Frederiksen) นายกรัฐมนตรีเดนมาร์คได้ให้คำมั่นไว้กับ ปธน.เซเลนสกี้ หลังจากได้เดินทางเยือนกรุงเคียฟเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยรายงานกล่าวว่าเดนมาร์คจะทำการส่งยานเกราะลำเลียงพลล้อยาง Piranha III จำนวน 25 คัน และยานเกราะลำเลียงพลล้อสายพาน M113G3DK จำนวน 50 คัน (ก่อนหน้านี้สหรัฐเคยส่งมอบ M113 ให้แก่ยูเครนแล้วจำนวน 200 คัน) พร้อมด้วยกับระเบิดต่อต้านรถถัง และกระสุนปืนใหญ่ต่างๆ รวมมูลค่าทั้งหมด 80 ล้านยูโร
ด้านรัฐบาลญี่ปุ่นได้มอบเงินจำนวน 2,600,000 ดอลลาร์สหรัฐให้แก่ยูเครน สำหรับนำไปจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่นๆ แก่ยูเครน
4. เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประชุมระหว่างชาติสมาชิกสหภาพยุโรป เพื่อหารือเรื่องการคว่ำบาตรด้านพลังงานต่อรัสเซีย โดยประเด็นหลักที่มีการหารือกันคือการยุติการนำเข้าน้ำมันดิบและแร่ยูเรเนียมจากรัสเซีย โดยมีเยอรมนี โปแลนด์ เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิธัวเนียเป็นผู้สนับสนุนหลักของแผนงานดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ชาติยุโรปตะวันออกคือเช็กเกีย ฮังการี ฟินแลนด์ บัลแกเรีย โรมาเนีย และสโลวาเกีย ต่างเป็นกังวลกับแผนคว่ำบาตรยูเรเนียม เนื่องจากชาติเหล่านี้ต่างพึ่งพาการนำเข้าแร่ยูเรเนียมสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของตน อย่างไรก็ดี ประเทศเหล่านี้ได้เริ่มติดต่อเจรจากับบริษัทเวสติงเฮาส์อิเล็คทริค (Westinghouse Electric Corporation) ของสหรัฐ เพื่อหารือความเป็นไปได้ในการจัดหาแร่ยูเรเนียมเพื่อทดแทนการนำเข้าจากรัสเซีย
จากสถิติในปี 2020 ประเทศคู่ค้าหลักที่สหภาพยุโรปนำเข้าแร่ยูเรเนียมสูงสุดมาจากไนเจอร์ (2,555 ตัน) รองลงมาคือรัสเซีย (2,545 ตัน) คาซัคสถาน (2,414 ตัน) แคนาดา (2,312 ตัน) และออสเตรเลีย (1,671 ตัน)