สร้างหุ่นยนต์ชีวภาพที่ได้จากสิ่งมีชีวิตนักวิทยาศาสตร์สร้างหุ่นยนต์จากเซลล์ของสิ่งมีชีวิตได้สำเร็จเป็นครั้งแรก โดยหุ่นยนต์ดังกล่าวนี้มีชื่อว่า “Xenobots” สร้างขึ้นมาจากเซลล์ของกบมีเล็บอาฟริกัน ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์หวังว่าในอนาคตจะสามารถใช้หุ่นยนต์พวกนี้ในการกำจัดขยะในทะเล หรือกระทั่งเดินทางเข้าไปในเส้นเลือดมนุษย์เพื่อรักษาโรคได้
.
นักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐฯ ได้ร่วมกันสร้างหุ่นยนต์จากเซลล์ของสิ่งมีชีวิตขึ้นได้สำเร็จเป็นครั้งแรก โดยหุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นนี้มีชื่อว่า “Xenobots” ที่ได้ชื่อดังกล่าวนี้ เนื่องจากหุ่นยนต์พวกนี้สร้างขึ้นจากเซลล์ของกบมีเล็บอาฟริกัน (African clawed frogs) ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Xenopus laevis” จึงได้นำชื่อตัวหน้า Xeno ไปเป็นชื่อหุ่นยนต์ด้วย
สำหรับการสร้างหุ่นยนต์ชีวภาพตัวนี้ นักวิทยาศาสตร์จะใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ใช้ “อัลกอริทึมวิวัฒนาการ” (evolutionary algorithm) ในการสุ่มสร้างรูปแบบของหุ่นยนต์ชีวภาพดังกล่าวนี้ออกมาหลายๆ แบบก่อน จากนั้นรูปแบบที่สุ่มสร้างขึ้นมาได้จะถูกนำมาทดสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อดูคุณสมบัติต่างๆ ว่าแต่ละรูปแบบทำงานได้ดีแค่ไหน เช่นว่าสามารถเคลื่อนที่ไปได้ไกลแค่ไหน จากนั้นรูปแบบที่มีคุณสมบัติดีที่สุดจะได้รับการนำไปพัฒนาต่อจนได้รูปแบบที่น่าพอใจ
.
จากนั้นนักวิทยาศาสตร์จะนำเซลล์หัวใจและเซลล์ผิวหนัง ที่ได้จากตัวอ่อน (embryos) ของกบมีเล็บอาฟริกันมาประกอบสร้างตามแบบ โดยหนึ่งในรูปแบบที่ประสบความสำเร็จที่สุดคือรูปแบบที่ดูเหมือนมีขา 2 ข้างงอกออกมาจากส่วนอก ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งมีรูตรงกลางลำตัวซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้แปลงให้กลายเป็นเหมือนกระเป๋าหน้าซึ่งหุ่นยนต์ชีวภาพใช้ในการบรรทุกสิ่งของชิ้นเล็กๆ
ทั้งนี้ หุ่นยนต์ชีวภาพที่สร้างขึ้นนี้ มีขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตรเท่านั้น ประกอบด้วยเซลล์ประมาณ 500-1,000 เซลล์ แต่ก็มีพลังงานในตัวเอง โดยมันสามารถใช้โปรตีนที่มีอยู่ในตัวเคลื่อนที่ด้วยตัวเองตามโปรแกรมที่วางไว้ได้นานถึง 7-10 วัน และหลังจากนั้นก็จะตายและย่อยสลายไปเอง
.
ดร.ไมเคิล เลวิน จาก Tufts University สหรัฐอเมริกา ระบุว่า “นี่ถือเป็นสิ่งมีชีวิตรูปแบบใหม่ พวกมันไม่เคยมีอยู่มาก่อนบนโลก มันเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกโปรแกรมได้”
.
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์หวังว่า ในอนาคตหากสามารถสร้างและออกแบบหุ่นยนต์ชีวภาพดังกล่าวนี้ได้ดีขึ้น ก็อาจสามารถนำไปใช้ในการกำจัดขยะพลาสติกในทะเล เก็บกวาดไมโครพลาสติก เดินทางเข้าไปในเส้นเลือดของมนุษย์เพื่อปฏิบัติภารกิจทางการแพทย์ต่างๆ รวมไปถึงทำงานที่อันตรายเกินกว่าที่มนุษย์จะทำได้ อย่างเช่นการสำรวจขยะนิวเคลียร์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การสร้างหุ่นยนต์จากเซลล์สิ่งมีชีวิตขึ้นนี้ก็ทำให้เกิดประเด็นเชิงจริยธรรมตามมา เพราะหากเราตีความว่าหุ่นยนต์ชีวภาพนี้เป็นสิ่งมีชีวิตจริงๆ ไม่ใช่แค่หุ่นยนต์รูปแบบหนึ่ง เราก็อาจต้องปฏิบัติกับมันประหนึ่งสิ่งมีชีวิตอื่นๆ หรือไม่ รวมถึงในอนาคต หุ่นยนต์ชีวภาพพวกนี้อาจจะไม่ได้ถูกสร้างขึ้นจากเพียงเซลล์ผิวหนังและเซลล์หัวใจเท่านั้น แต่อาจถูกสร้างขึ้นจากเซลล์ประสาทที่อาจทำให้มันรู้สึกเจ็บปวดหรือมีความรู้สึกขึ้นมาได้ ซึ่งถือเป็นประเด็นทางจริยธรรมที่ต้องมีการถกเถียงกันต่อไป
ข้อมูลจาก:
https://www.theguardian.com/internationalเรียบเรียงและแปล:
https://www.facebook.com/WorkpointNews/photos/a.153956988306921/1169555983413678?type=3&eid=ARDIpdnxxT-5ZoKKHV2JjBhY5TP-9_f-_xJkvImvtc9k