หนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่จำเป็นอย่างมากต่อเมืองสักเมืองนึง ก็คือหน่วยดับเพลิง เหล่าพนักงานดับเพลิงมีหน้าที่ทั้งจัดการเหตุอัคคีภัย รวมถึงบรรเทาสาธารณภัย เพื่อให้ประชากรในเมืองอยู่อย่างสงบปราศจากภัยอันตรายต่าง ๆ
ถ้าถามว่าหน่วยดับเพลิงมีขึ้นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อไหร่ คำตอบก็คือมีตั้งแต่สมัยโรมัน แต่รู้หรือไม่ว่า เหตุผลที่นำไปสู่การก่อตั้งหน่วยดับเพลิงของโรมันนั้น มันมาจากความเห็นแก่เงินของเศรษฐีคนหนึ่ง
มาร์คุส ลิซินิอุส คราสซุส (Marcus Licinius Crassus) เป็นแม่ทัพ นักการเมือง และมหาเศรษฐีที่มีชีวิตในช่วง 113-53 ปีก่อนคริสตกาล ตรงกับปลายยุคสาธารณรัฐโรมัน ชายคนนี้ถูกขนานนามว่าเป็น ‘ชายผู้ร่ำรวยที่สุดแห่งกรุงโรม’
ด้วยความที่กรุงโรมเป็นเมืองที่ประชากรหนาแน่น จึงไม่แปลกที่จะเกิดเพลิงไหม้อยู่บ่อยครั้ง มีบันทึกว่ากรุงโรมจะเกิดเพลิงไหม้ประมาณ 100 ครั้งต่อวัน โดยจะเป็นเหตุรุนแรงประมาณ 2 ครั้ง ที่สำคัญตอนนั้นก็ยังไม่มีหน่วยดับเพลิง เลยเป็นหน้าที่ของชาวบ้านที่ต้องดับเพลิงกันแบบตามมีตามเกิด
สำหรับคราสซุส เขาจะทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้เงิน แม้ว่ามันจะสกปรกหรือทำให้คนอื่นเดือดร้อนมากแค่ไหน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการหาเงินจากเหตุเพลิงไหม้ในกรุงโรม
สิ่งที่คราสซุสทำก็คือ ฝึกฝนทาสที่ร่างกายแข็งแรง 500 คน ไปเป็นพลังงานดับเพลิง และเมื่อเกิดเพลิงไหม้ที่ไหน หน่วยดับเพลิงของเขาก็พร้อมเดินทางไปยังจุดเกิดเหตุทันที
แต่ประเด็นคือพอไปถึงหน้างาน หน่วยดับเพลิงของคราสซุสจะไม่รีบลงมือดับเพลิง แต่พวกเขาจะเสนอราคาต่อคนที่บ้านกำลังไฟไหม้อยู่ ถ้าจ่ายช้า ก็จะปล่อยให้บ้านไฟไหม้มากขึ้น แถมยิ่งจ่ายช้าราคาในการดับเพลิงก็จะเพิ่มขึ้นอีก กลายเป็นการบังคับให้คนที่กำลังทุกข์ร้อนรีบ ๆ จ่ายเงินให้กับพนักงานดับเพลิง (หรือโจรกันแน่เนี่ย)
นอกจากนี้ หน่วยดับเพลิงของคราสซุสยังมีออปชั่น ‘จ่ายเพิ่ม’ ให้กับลูกค้า โดยถ้าลูกค้าให้ทิปกับพนักงาน หน่วยดับเพลิงก็พร้อมทำงานอย่างรวดเร็วกว่าปกติ
ส่วนใครที่ไม่มีเงินหรือไม่ยอมจ่าย หน่วยดับเพลิงก็จะยืนอยู่อย่างนั้น และปล่อยให้บ้านไฟไหม้จนไม่เหลือซาก จากนั้นคราสซุสจะซื้อที่ดินตรงนั้น สร้างที่อยู่อาศัยใหม่และขายต่อทำกำไรให้กับเขาเต็ม ๆ เรียกได้ว่าหากเกิดอัคคีภัยในโรมเมื่อใด คราสซุสก็พร้อมรับเงินเข้าสู่กระเป๋าเมื่อนั้น
มีบันทึกอีกว่า คราสซุสสามารถทำเงินจากหน่วยดับเพลิงของเขามากถึง 7,100 ทาเลนท์ (เงินเหรียญของโรมัน) หรือตีเป็นเงินยุคปัจจุบันจะอยู่ที่ราว 200 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว
แต่สุดท้ายความเห็นแก่เงินของคราสซุส ก็นำพาให้เขาพบกับความตายที่แสนทรมาน ในปี 53 ก่อนคริสตกาล คราสซุสในฐานะผู้ว่าการของซีเรียพ่ายแพ้การรบต่อจักรวรรดิปาร์เธียน (Parthian) ในการรบที่คาร์เร (Carrhae ตอนใต้ของตุรกีปัจจุบัน) คราสซุสถูกปาร์เธียนจับประหารชีวิต โดยการกรอกทองคำเหลวร้อน ๆ ลงลำคอจนตาย เพื่อให้สาสมกับความละโมบของเขา
ส่วนไอเดียของหน่วยดับเพลิงที่คราสซุสเคยสร้างไว้ ก็ถูกพัฒนาในปี ค.ศ. 6 ในยุคจักรพรรดิออกุสตุส (Augustus) นำไปสู่การก่อตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า ‘Vigiles’ ที่ทำหน้าที่ทั้งดับเพลิงและเฝ้าระวังเหตุอัคคีภัย รวมถึงดูแลความปลอดภัยคล้ายกับตำรวจ
แต่ที่สำคัญคือ Vigiles มีสถานะเป็นหน่วยงานของภาครัฐ ที่ประชาชนไม่ต้องเสียเงิน และไม่ใช่กลุ่มคนที่ทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของใครบางคนอีก
-----
อ้างอิง
• LOCALRY. จุดเริ่มต้นของหน่วยดับเพลิง เกิดจากความหน้าเลือดล้วน ๆ.
https://www.facebook.com/share/p/5L7ZPGujVPd993YQ/?mibextid=xfxF2iBritannica. Marcus Licinius Crassus.
https://www.britannica.com/biography/Marcus-Licinius-CrassusStudy. Vigile History, Firefighters & Police.
https://study.com/academy/lesson/vigile-history-duties-facts.html?fbclid=IwAR3BEAmeqIzvaHPDurq5sRkARNgi-7VTgcvBiYsNTOvbLOA8vHLB1YgFhoEhttps://web.facebook.com/photo/?fbid=902985705167213&set=a.439959818136473