Doom คือเกมที่พลิกโฉมวงการเกมนับตั้งแต่เปิดตัวในปี 1993 ก่อนจะถูกยกขึ้นหิ้งเป็นตำนานเกม FPS ตลอดกาล อันที่จริงจะบอกว่าขึ้นหิ้งก็ไม่ถูกนัก เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ตัวเกมมักจะถูกผู้คนนำไปพอร์ทลงอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ไม่คิดว่าจะเล่นได้ เช่น ตู้ ATM, เครื่องคิดเลข, กล้องถ่ายรูป, เครื่องถ่ายเอกสาร, รีโมทบังคับโดรน รวมไปถึงที่ตรวจครรภ์
Len.game จึงพามาหาคำตอบกันว่า เหตุใด Doom ถึงกลายเป็นของโปรดของเหล่า “คนซน” ผู้สรรหาอุปกรณ์แปลก ๆ เพื่อมาเล่นเกมนี้
➤ จุดเริ่มต้นของตำนาน
Doom เป็นเกม FPS ที่พัฒนาโดย id Software เพื่อลงให้กับ MS-DOS ซึ่งขณะนั้นคงไม่มีใครคาดคิดว่า ตัวเกมจะได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จอย่างสูง จนมีการแตกไลน์ย่อยออกไปเป็นทั้งภาพยนตร์, บอร์ดเกม รวมไปถึงหนังสือ
ความน่าสนใจอีกอย่างคือ แม้ทีมพัฒนาจะออกภาคใหม่อย่างต่อเนื่อง (ล่าสุดคือ Doom Eternal ในปี 2020) แต่ตัวเกมภาคแรกก็ยังคงมีคนพอร์ทข้ามเจเนเรชันมาเล่นกันอยู่เสมอ
และมันไม่ใช่แค่การพอร์ทมาเล่นบน PC หรือเครื่องเกมพกพาเหมือนเกมอื่น ๆ ในยุคเดียวกัน แต่นักพอร์ททั้งหลายต่างแข่งกันหาอุปกรณ์แปลก ๆ แบบสุดจะคิดได้ เพื่อมาเล่น Doom โดยเฉพาะ
➤ เทรนด์พอร์ท Doom มาจากไหน?
เหตุผลหลักที่ Doom กลายเป็นของฮิตยอดนักพอร์ท ข้อแรกเลยคือ ในปี 1997 ตัวเกมทำลายธรรมเนียมเดิม ๆ ของเกมส่วนใหญ่ในยุค 90s ด้วยการที่ทีมพัฒนาแจกโค้ด open-source เวอร์ชัน Linux ให้แฟนเกมนำไปใช้ได้เลย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับโปรแกรมเมอร์ที่จะใช้วิศวกรรมย้อนกลับไปยังตัวเกมเวอร์ชันต้นฉบับปี 1993
มากไปกว่านั้น โค้ดเกม Doom ถูกเขียนด้วยภาษา C ซึ่งเป็นภาษาโค้ดที่ง่ายต่อการพอร์ทมากกว่าภาษาอื่น หมายความว่า แม้เทคโนโลยีจะพัฒนาไปมากขนาดไหน แต่ Doom ก็ยังสามารถเปิดขึ้นมาเล่นบน PC สเป็คต่ำได้โดยไม่แล็ก
ซึ่งในช่วงแรก แฟนเกมก็ไม่ได้ตั้งใจที่จะพอร์ทเกมไปยังอุปกรณ์แปลก ๆ แต่หยิบเกมมาทำ “ม็อด” มากกว่า ชุมชนนักม็อดหลายแห่ง มักจะจัดให้เกม Doom เป็นบททดสอบแรกสำหรับฝึกฝนนักม็อดหน้าใหม่ เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ตัวเกมไม่ได้ซับซ้อนมากมาย นักม็อดชื่อดังหลายคนในปัจจุบันต่างก็เคยลองสร้างม็อดใน Doom มาแล้วทั้งนั้น
ความนิยมในกลุ่มคนสร้างม็อด ทำให้ตัวเกม “ไม่มีวันตาย” แม้จะมีการออกภาคใหม่ แต่พวกเขาก็ยังสรรหาไอเดียในการหยิบจับสิ่งต่าง ๆ มาดัดแปลงให้ Doom ภาคแรก ยังคงสนุก เล่นได้ไม่มีเบื่อ
จุดเริ่มต้นการพอร์ท มาจากการที่เครื่องเล่นเกมรุ่นเก่าเริ่มเสื่อมความนิยม สวนทางกับเครื่องเกมรุ่นใหม่ที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และวิธีที่ทำให้ Doom ยังคงอยู่ต่อไป นั่นคือต้องทำให้เกมสามารถย้ายไปเล่นในแพลตฟอร์มอื่นได้ด้วย ซึ่งการพอร์ทเกมคือทางออก
จนกระทั่งมีคนตั้งกระทู้ใน reddit ว่า “หากตัวเกมสามารถพอร์ทใส่ PC ได้อย่างง่ายดาย แล้วทำไมเราไม่ลองพอร์ทใส่อุปกรณ์ที่มีหน้าจอชนิดอื่นดูบ้าง” และนั่นคือจุดเริ่มต้นความแปลกและสร้างสรรค์อย่างหาที่สุดไม่ได้
➤ ทำไมถึงกลายเป็นกระแส?
เมื่อกระทู้จุดประกายไอเดีย เกมเมอร์สายโปรแกรมเมอร์ก็เริ่มที่จะปรึกษาหารือถึงความเป็นไปได้ในการร่วมกันหาอุปกรณ์ที่น่าจะใช้เล่นเกม Doom ได้แบบลื่นไหล แม้ว่ามันจะไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อเล่นเกม
โดยอุปกรณ์ชิ้นแรกเท่าที่มีการจดบันทึกคือการพอร์ทใส่เทอร์โมสตัท ยี่ห้อ Honeywell (อุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิ ที่มีหน้าจอคล้ายรีโมทแอร์) ซึ่งมันสร้างความฮือฮาไม่ใช่แค่ในกลุ่มแฟนเกม แต่ชาวเน็ตและสื่อบันเทิงก็เริ่มให้ความสนใจกับความสร้างสรรค์ครั้งนี้
ในเวลาต่อมา ก็มีการขยับไปพอร์ทให้กับเครื่องแสกนเนอร์ จนเกิดเป็นภาพจำที่ว่า อุปกรณ์ใดก็ตามที่มีหน้าจอ ก็สามารถเล่นเกม Doom ได้ทั้งนั้น
หลังจากนั้น อุปกรณ์ที่มีหน้าจอนับร้อยนับพัน ก็ถูกคนซนหยิบมาลองเล่น Doom เป็นว่าเล่น เช่น ผู้ใช้เรดดิตนามว่า u/Maserati52 ที่พอร์ทเกมลงรีโมทควบคุมโดรน GoPro Karma
ซึ่งโดรนตัวนี้ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ สิ่งที่เขาทำจึงไม่มีอะไรยุ่งยาก เพียงแค่อัปเดตซอฟต์แวร์ให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด ก่อนที่จะเปิด Doom (เวอร์ชั่นแอนดรอยด์) ขึ้นมาเล่น
หรือ เว็บไซต์ next-hack ที่พอร์ทเกมลง Trådfri GU10 345 RGB หลอดไฟอัจฉริยะของ IKEA ที่แตกต่างจากอุปกรณ์อื่น ๆ พอสมควร เนื่องจากมันไม่มีปุ่มกดและจอภาพ next-hack จึงต้องทำการใส่เพิ่มผ่าน MGM210L RF (บอร์ดที่ให้พลังงานหลอดไฟ) รวมถึงต้องย่อขนาดเกม เพื่อเล่นบน RAM 108kB ให้ได้
ผลลัพธ์ที่ได้ถือว่าค่อนข้างน่าประทับใจ ตัวเกมรันได้ปกติ เคลื่อนที่ได้, ยิงปืนได้ และยังมีเสียงประกอบด้วย ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้ เวลาซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าสักชิ้น คงต้องถามคนขายก่อนว่า “มันเล่น Doom ได้ไหมครับ”
แต่ความแปลก No.1 ที่แฟนเกมยังคงตราตรึงเกิดจากยูทูบช่อง Equalo ที่เขาใช้มันฝรั่ง 770 ชิ้นต่อสายไฟเข้ากับเครื่องคิดเลข เพื่อเล่น Doom
สุดท้ายนี้ เทรนด์การพอร์ท Doom ลงอุปกรณ์แปลก ๆ ยังคงดำเนินต่อไป ไม่มีทีท่าว่าจะหาย สิ่งที่แฟนเกมอย่างเราทำได้ ก็คือการรอดูว่า “อุปกรณ์” ชิ้นต่อไป ที่จะกลายมาเป็นแพลตฟอร์มของ Doom คืออะไร
https://www.len.game/article/feature/doom/?fbclid=IwAR3vh-qOt4kl50DzoVP29y4aynr2toFkqGGgKM4DAHKU1j0t4OL__Hp3jGA