อัพเดตข่าวยูเครน วันที่ 168 ของสงคราม Part 3
4. ดูเหมือนฝ่ายรัสเซียจะเริ่มดำเนินมาตรการตอบโต้ยุโรปที่เข้มข้นมากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้รัสเซียได้ทำการหยุดการจ่ายก๊าซหรือลดการจ่ายก๊าซให้แก่ประเทศในยุโรปบางประเทศไป แต่ดูเหมือนว่ารัสเซียจะเริ่มหันมาเล่นงานยุโรปในเรื่องน้ำมันดิบบ้างแล้ว โดยเมื่อวานนี้บริษัท “ทรานส์เนฟต์” (Transneft JSC) รัฐวิสาหกิจด้านการลำเลียงน้ำมันดิบผ่านท่อส่งน้ำมัน ได้ประกาศว่าบริษัท “ยูโครทรานส์นาฟต้า” (UkrTransNafta) ของยูเครนได้ทำการตัดการส่งน้ำมันดิบผ่านท่อส่งดรุจบา (Druzhba Pipeline) ไปยังประเทศในยุโรปกลางแล้ว หลังจากที่ “ทรานส์เนฟต์” ไม่ได้ทำการชำระค่าธรรมเนียมการลำเลียงน้ำมันดิบผ่านประเทศยูเครนให้แก่ “ยูโครทรานส์นาฟต้า”
เท้าความก่อนว่า “ทรานส์เนฟต์” ของรัสเซียนั้นเป็นผู้ดำเนินการจัดส่งน้ำมันดิบจากในรัสเซีย ผ่านท่อส่งดรุจบาไปยังเบลารุส ก่อนที่ท่อส่งจะแยกสายเป็นท่อส่งดรุจบาสายเหนือ (Northern Druzhba) ซึ่งลำเลียงน้ำมันดิบผ่านเบลารุส-โปแลนด์-เยอรมนี ขณะที่ท่อส่งดรุจบาสายใต้ (Southern Druzhba) จะลำเลียงน้ำมันดิบผ่านเบลารุส-ยูเครน-ฮังการี-สโลวาเกีย-เช็กเกีย-ออสเตรีย ซึ่งโดยทั่วไปหลังจากได้รับเงินค่างวดจากการส่งน้ำมันดิบรายเดือนแล้ว “ทรานส์เนฟต์” จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้แก่ประเทศอื่นๆ ที่ท่อส่งน้ำมันเดินสายผ่านประเทศนั้นๆ เช่นยูเครนหรือฮังการี เป็นค่าตอบแทนสำหรับการให้ความร่วมมือในการวางระบบและการซ่อมบำรุงท่อส่งน้ำมันดิบเหล่านี้
สำหรับแถลงการณ์เมื่อวานนี้ของ “ทรานส์เนฟต์” กล่าวว่าทางบริษัทไม่สามารถชำระค่าธรรมเนียมจากการวางท่อส่งน้ำมันดิบในยูเครนให้แก่ “ยูโครทรานส์นาฟต้า” ประจำเดือนสิงหาคมได้ตามกำหนดตั้งแต่สิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้ทาง “ยูโครทรานส์นาฟต้า” ตัดสินใจยุติการปฏิบัติงานของท่อส่งน้ำมันดรุจบาสายใต้ตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้การส่งน้ำมันดิบประมาณ 250,000 บาร์เรล/วัน ไปยังประเทศในภูมิภาคยุโรปกลางซึ่งอยู่ปลายสายของท่อส่งน้ำมันดรุจบาสายใต้ ได้แก่ฮังการี สโลวาเกีย เช็กเกีย และออสเตรีย ไม่สามารถทำได้ตามปกติ
ทั้งนี้ “ทรานส์เนฟต์” อ้างเหตุผลจากธนาคารแกสพรอมแบงก์ (Gazprombank) ของรัสเซีย ว่าเนื่องจากการคว่ำบาตรระบบธนาคารและการเงินของชาติตะวันตก ทำให้ “ทรานส์เนฟต์” ไม่สามารถชำระเงินค่าธรรมเนียมให้แก่ “ยูโครทรานส์นาฟต้า” ได้ตามกำหนด อย่างไรก็ดีเหตุผลดังกล่าวนั้นถือว่าไม่มีน้ำหนัก เพราะจนถึงตอนนี้สหภาพยุโรปยังไม่ได้ทำการคว่ำบาตรน้ำมันดิบรัสเซียเต็มรูปแบบแต่อย่างใด และยังคงเปิดช่องทางให้สามารถชำระเงินค่างวดจากการนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียได้อยู่ดังเดิม จึงเป็นไปได้มากกว่าว่าเหตุการณ์นี้เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลรัสเซียที่ต้องการตอบโต้และกดดันชาติตะวันตกคืน มากกว่าจะเป็นเหตุผลจากข้อจำกัดทางเทคนิค
อย่างไรก็ดี จนถึงตอนนี้ทางบริษัทของชาติตะวันตกที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ “ยูโครทรานส์นาฟต้า” ของยูเครน กับ “เอ็มโอแอล” (MOL Plc.) และ “ออร์เล็น” (PKN Orlen S.A.) ของฮังการี ยังไม่ได้ออกมาแถลงการณ์หรือแสดงปฏิกิริยาใดๆ ต่อแถลงการณ์ของ “ทรานส์เนฟต์” แต่อย่างใด
ภาพประกอบเพื่อความเข้าใจง่าย แสดงเส้นทางของท่อส่งน้ำมันดิบดรุจบา (Druzhba Pipeline) ตามเนื้อหาข่าว
5. แม้ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ของรัสเซียจะมีสภาพที่ย่ำแย่จากการคว่ำบาตร แต่ภาคการส่งออกสินค้าพลังงาน ได้แก่น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของรัสเซียยังคงสามารถต้านทานต่อการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกได้ในตอนนี้ ล่าสุดทั้งจีนและอินเดียได้กลายมาเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ของรัสเซีย คิดเป็นมูลค่ารวมกันกว่า 41% ของมูลค่าการส่งออกน้ำมันดิบทั้งหมดของรัสเซียในตอนนี้ แต่ก็มีคำเตือนจากนักสังเกตการณ์ว่า เทรนด์ดังกล่าวอาจใกล้มาถึงจุดอิ่มตัวแล้ว
“เคปเลอร์” (Kpler) บริษัทด้านการสำรวจ รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลของตลาดการค้าพลังงาน ได้เปิดเผยข้อมูลว่าในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ยอดการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียของจีนและอินเดียรวมกันมียอดพุ่งสูงถึง 1,850,000 บาร์เรล/วัน คิดเป็น 41% ของยอดการส่งออกน้ำมันดิบทั้งหมดของรัสเซียในเดือนกรกฎาคม ซึ่งมีตัวเลขอยู่ที่ 4,470,000 บาร์เรล/วัน
อย่างไรก็ดี ทาง “เคปเลอร์” ได้กล่าวว่าเริ่มปรากฏให้เห็นสัญญาณเตือนว่าการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียของจีนและอินเดียอาจใกล้มาถึงจุดอิ่มตัวแล้ว หลังจากพบว่ายอดการนำเข้าของทั้งสองประเทศในเดือนกรกฎาคม มีมูลค่าตกลงจากยอดการนำเข้าในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมาซึ่งทั้งสองประเทศมีส่วนแบ่งการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียมากถึง 45% โดยในกรณีของจีน ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จีนนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียประมาณ 843,000 บาร์เรล/วัน ลดลงจากยอดการนำเข้าในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนซึ่งมีตัวเลขอยู่ที่ 1,330,000 บาร์เรล/วัน ขณะที่อินเดียนั้นมียอดการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียที่ 1,050,000 บาร์เรล/วัน ในเดือนกรกฎาคม ลดลงจากยอดการนำเข้าในเดือนมิถุนายนที่ 1,120,000 บาร์เรล/วัน
นอกจาก “เคปเลอร์” แล้ว “เรฟินิทีฟ” (Refinitiv) อีกหนึ่งบริษัทด้านการวิเคราะห์ตลาดโลก ยังพบข้อมูลในลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยพบว่าในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาจีนนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียประมาณ 1,670,000 บาร์เรล/วัน ลดลงจากยอดการนำเข้าในเดือนพฤษภาคม (1,990,000 บาร์เรล/วัน) และเดือนมิถุนายน (1,780,000 บาร์เรล/วัน) ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ประเทศหนึ่งที่ “เคปเลอร์” พบว่ามีการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียเพิ่มขึ้นคือตุรกี โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาตุรกีนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียประมาณ 312,000 บาร์เรล/วัน มากกว่าตัวเลขจากเดือนกรกฎาคมในปีที่แล้วซึ่งมีตัวเลขการนำเข้าอยู่ที่ 222,500 บาร์เรล/วัน
อย่างไรก็ดี นอกจากตุรกีแล้ว “เคปเลอร์” พบว่านอกจากจีนและอินเดีย ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่อื่นๆ ของโลกก็ทำการลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียลง เช่นญี่ปุ่นนั้นยกเลิกการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียทั้งหมดตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากที่นำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียราว 112,200 บาร์เรล/วัน ในเดือนมีนาคม ขณะที่ยอดการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียของเกาหลีใต้ก็ลดต่ำลงมากกว่าครึ่ง จากยอดการนำเข้ามากกว่า 307,000 บาร์เรล/วัน ในเดือนมีนาคม ลดลงเหลือเพียง 115,400 บาร์เรล/วัน ในเดือนกรกฎาคม ส่วนสหภาพยุโรปและตุรกีนั้น จากเดิมที่มียอดการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียมากถึง 2,990,000 บาร์เรล/วัน ในเดือนกุมภาพันธ์ ลดลงเหลือเพียง 2,150,000 บาร์เรล/วัน ในเดือนกรกฎาคมเท่านั้น และยังมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ