อัพเดตข่าวยูเครน วันที่ 167 ของสงคราม Part 1
1. ในที่สุดก็ประกาศอย่างเป็นทางการสำหรับแพ็กเกจความช่วยเหลือทางทหารชุดใหม่ของสหรัฐที่จะทำการส่งมอบให้แก่ยูเครน รวมมูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (35,475 ล้านบาท) โดยงบประมาณทั้งหมดมาจากอำนาจการเบิกถอนตามคำสั่งประธานาธิบดี (Presidential Drawdown Authority) ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่พันธมิตรผ่านอำนาจพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐ โดยการนำอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีประจำการในกองทัพสหรัฐมอบให้แก่มิตรประเทศเนื่องในสถานการณ์ฉุกเฉิน
สำหรับรายละเอียดของแพ็กเกจชุดนี้ ประกอบไปด้วย
1.1 จรวดนำวิถีเพิ่มเติมสำหรับเครื่องยิงจรวดหลายลำกล้อง M142 HIMARS (คาดว่าจะเป็นรุ่น M31 ระยะยิง 80 กม. ที่สหรัฐมอบให้ยูเครนก่อนหน้านี้)
1.2 กระสุนปืนใหญ่ขนาด 155 ม.ม. จำนวน 75,000 นัด (สำหรับใช้งานร่วมกับปืนใหญ่วิถีโค้ง M777, FH70 และปืนใหญ่อัตตาจร PzH 2000, M109 Paladin, AHS Krab และ CAESAR ที่ชาติพันธมิตรมอบให้แก่ยูเครน)
1.3 ปืน ค. ขนาด 120 ม.ม. จำนวน 20 กระบอก พร้อมกระสุนปืน ค. ขนาด 120 ม.ม. จำนวน 20,000 นัด (คาดว่าจะเป็นปืน ค. รุ่น M120 หรือรุ่น M326 ของกองทัพสหรัฐ)
1.4 มิสไซล์ต่อต้านอากาศยานสำหรับใช้งานกับระบบอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศแบบ NASAMS ที่สหรัฐมอบให้ยูเครนก่อนหน้านี้ 2 ระบบ (คาดว่าจะเป็นมิสไซล์รุ่น AIM-120 AMRAAM หรือ AIM-9 Sidewinder ของสหรัฐ)
1.5 อาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านรถถังรุ่น FGM-148 Javelin จำนวน 1,000 ระบบ และปืนต่อต้านรถถังแบบ AT4 จำนวนหลายร้อยกระบอก
1.6 ยานเกราะลำเลียงพลรุ่นรถพยาบาล จำนวน 50 คัน (คาดว่าจะเป็นยานเกราะตระกูล M113 รุ่น M113A4 AMEV หรือตระกูล M577 ATV ที่มีใช้งานในกองทัพสหรัฐ)
1.7 กับระเบิดต่อต้านบุคคลแบบ M18 Claymore
1.8 เครื่องระเบิดชุด C4
1.9 อุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น
หากนับรวมแพ็กเกจความช่วยเหลือทางทหารชุดล่าสุดด้วย จะทำให้นับตั้งแต่นายโจ ไบเดนขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2021 จนถึงปัจจุบัน สหรัฐได้ส่งมอบความช่วยเหลือทางทหารให้แก่ยูเครน รวมมูลค่าทั้งหมด 9,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (347,655 ล้านบาท) หรือถ้าหากนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งกรณีคาบสมุทรไครเมียและภูมิภาคดอนบาสขึ้นในปี 2014 มูลค่าความช่วยเหลือทางทหารที่สหรัฐมอบให้ยูเครนทั้งหมดเท่ากับ 11,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (418,605 ล้านบาท)
2. นอกจากแพ็กเกจความช่วยเหลือทางทหารแล้ว รัฐบาลสหรัฐผ่านนายโคลิน คาห์ล (Colin Kahl) ปลัดกระทรวงกลาโหมฝ่ายนโยบายของสหรัฐ ยังได้ออกแถลงการณ์ที่น่าสนใจออกมาอีกหลายประการ ได้แก่
2.1 นายคาห์ลกล่าวยืนยันต่อข่าวลือ ว่าทางการสหรัฐได้ทำการส่งมอบอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านคลื่นอิเล็กทรอนิกส์หรือ ARM (Anti-Radiation Missile) มิสไซล์สำหรับค้นหาและทำลายระบบเรดาร์ป้องกันภัยทางอากาศของศัตรูโดยเฉพาะ ให้แก่กองทัพยูเครนจริงตามที่มีการเปิดเผยออกมาโดยสื่อของรัสเซีย และแม้ว่านายคาห์ลจะไม่ได้ระบุว่ามิสไซล์ดังกล่าวเป็นรุ่นใด แต่เชื่อได้ว่าจะเป็นมิสไซล์รุ่น AGM-88 HARM ตามที่มีข่าวลือออกมาก่อนหน้านี้
นายคาห์ลยังได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมด้วยว่า ในแพ็กเกจความช่วยเหลือระยะหลังที่สหรัฐมอบให้แก่ยูเครนนั้น สหรัฐได้ทำการดัดแปลงให้เครื่องบินรบของฝ่ายยูเครน ซึ่งคาดว่าจะเป็นรุ่น MiG-29 หรือ Su-25 สามารถใช้งานมิสไซล์แบบ ARM ของสหรัฐได้ ตรงกับหนึ่งในข้อสันนิษฐานที่ว่าสหรัฐได้ทำการดัดแปลงเครื่องบินขับไล่ของยูเครน ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้สหรัฐสามารถส่งมอบมิสไซล์แบบอื่นๆ ที่ใช้งานโดยเครื่องบินรบของสหรัฐให้แก่ยูเครนได้โดยตรง เช่นมิสไซล์รุ่น AIM-120 AMRAAM หรือ AIM-9 Sidewinder ที่สามารถใช้งานกับระบบป้องกันภัยทางอากาศ NASAMS ได้
อย่างไรก็ดี นายคาห์ลไม่ได้ระบุว่ามิสไซล์ HARM ที่สหรัฐมอบให้แก่ยูเครนนั้นเป็นมิสไซล์รุ่นใด โดยรุ่นทั่วไปของมิสไซล์ HARM จะมีระยะยิงหวังผลอยู่ที่ 120-150 กม. ขณะที่รุ่น AGM-88G AARGM-ER ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดในกองทัพสหรัฐนั้นมีระยะยิงไกลสูงถึง 300 กม.
2.2 นายคาร์ลได้กล่าวให้ความเห็นถึงความสูญเสียของกองทัพรัสเซียในสงครามยูเครน โดยกล่าวว่าตามการประเมินของกระทรวงกลาโหม คาดว่าจนถึงตอนนี้ รัสเซียสูญเสียทหารไปแล้วประมาณ 70,000 - 80,000 นาย และเนื่องจากคำว่า “ความสูญเสียทางทหาร” (Military Casualty) นั้นโดยทั่วไปจะนับทั้งยอดผู้เสียชีวิต (KIA) และยอดผู้บาดเจ็บ (WIA) ไว้ด้วยกัน คาดว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจริงของทหารรัสเซียน่าจะอยู่ที่ประมาณ 30,000 - 40,000 นาย ตามการประเมินของหน่วยข่าวกรองสหรัฐ
ตัวเลขดังกล่าวถือว่าสอดคล้องกับตัวเลขการประเมินที่มีการเปิดเผยออกมาก่อนหน้านี้โดยนายวิลเลียม เบิร์นส์ (William Burns) ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ (CIA) ในงานประชุมความมั่นคงแอสเพนประจำปี 2022 (2022 Aspen Security Forum) ระหว่างวันที่ 19-22 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งในตอนนั้นนายเบิร์นส์ได้กล่าวว่ารัสเซียสูญเสียทหารไปแล้วจำนวน 60,000 นาย ประกอบไปด้วยผู้เสียชีวิต 15,000 นาย และผู้บาดเจ็บ 45,000 นาย
นอกจากตัวเลขความสูญเสียของทหารราบแล้ว นายคาร์ลยังกล่าวด้วยว่าปัจจุบันรัสเซียได้สูญเสียยานเกราะชนิดต่างๆ ในกองทัพ ซึ่งรวมถึงยานเกราะลำเลียงพล รถรบทหารราบ ไปจนถึงรถถัง จำนวนประมาณ 3,000 - 4,000 คัน จำนวนดังกล่าวใกล้เคียงกับรายงานจาก “โอริกซ์” (Oryx) นักข่าวสงครามอิสระผู้ติดตามความสูญเสียของกองทัพยูเครนและรัสเซียในสงครามครั้งนี้ พบว่าจนถึงปัจจุบัน รัสเซียสูญเสียยานพาหนะทุกประเภทตั้งแต่รถยนต์ไปจนถึงเรือรบและอากาศยานในสงครามยูเครน จำนวนทั้งหมด 5,100 ชิ้น ขณะที่ตัวเลขความสูญเสียของยานพาหนะฝ่ายยูเครนปัจจุบันอยู่ที่ 1,450 ชิ้น
3. นอกจากความช่วยเหลือชุดใหม่จากรัฐบาลสหรัฐแล้ว อีกหนึ่งข่าวดีสำหรับยูเครน นายวาซีล บ็อดนาร์ (Vasyl Bodnar) เอกอัครรัฐทูตยูเครนประจำตุรกี ได้ออกมาเปิดเผยกับทางสำนักข่าว RBC Ukraine ว่ารัฐบาลยูเครนบรรลุข้อตกลงกับบริษัท “ไบย์คาร์” (Baykar Technology) ผู้พัฒนาโดรนติดอาวุธ TB-2 Bayraktar จากตุรกี ในการบรรลุข้อตกลงการก่อสร้างโรงงานผลิตโดรนของกองทัพยูเครน ภายใต้สิทธิบัตรจากบริษัท “ไบย์คาร์”
การเจรจาเพื่อจัดตั้งโรงงานสาขาของบริษัท “ไบย์คาร์” ในยูเครนนั้นมีมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามกับรัสเซียแล้ว จึงนับเป็นข่าวดีอย่างมากที่ทางบริษัท “ไบย์คาร์” ยังคงให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนแก่ยูเครนในสงครามครั้งนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นายฮาลุก ไบย์รัคตาร์ (Haluk Bayraktar) ประธานคณะกรรมการบริหารของ “ไบย์คาร์” ได้เคยให้สัมภาษณ์กับ CNN ไว้ว่าพวกเขาปฏิเสธจะให้ความช่วยเหลือแก่รัสเซียในสงครามครั้งนี้ ความร่วมมือในการก่อตั้งโรงงานครั้งนี้ยังรวมไปถึงการที่บริษัท “ไบย์คาร์” จะใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตจากในประเทศยูเครน เช่นเครื่องยนต์ ล้อ และอื่นๆ เป็นส่วนหนึ่งในการผลิตโดรนรุ่นต่อไปในอนาคตอีกด้วย