เอาจริงๆปี 2540 ระบบก็ไม่ได้เน่าเท่ากับยุคสมัย 2517-2522 นะครับ(ยุคนั้นแย่ที่สุดเลย เพราะในบทเรียนกระทรวงศึกษาได้แฝงโฆษณาชวนเชื่อเข้าไปด้วย)
เราต้องเข้าใจก่อนว่าปี 2540 คือ ปีที่ไทยกำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่ ค่าเงินบาทอ่อน บริบทร่วมกันของยุคสมัยนี้คือร่วมกันประหยัดเงิน รณรงค์ให้คนไทยซื้อของไทยใช้ของไทย หรือ ไทยเที่ยวไทย(ททท.)
(จริงๆ ส่วนตัวไม่ชอบคาราบาวนะ เพราะ เอาเนื้อเพลงของคนที่ต่อสู้ในยุคคนหนีเข้าป่า 2519-2522 เพื่อการค้า แต่คาราบาวไม่ได้เข้าใจเนื้อหาจริงๆที่เขาจะสื่อในเพลง อีกทั้งเป็นคนกลอกกลิ้งกลับคำพูดตัวเอง)
สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการเกิดของกลุ่ม "สมัชชาคนจน" หรือ Assembly of the poor เป็นกลุ่ม NGO ที่มีจุดประสงค์ช่วยเหลือชนชั้นเกษตรกรและชนชั้นแรงงานให้มีสวัสดิการที่ดีขึ้น ก่อตั้งในปี 2538 หลายคนของกลุ่มนี้มีรากฐานอุดมการณ์มาจาก สหพันธ์ชาวนาภาคเหนือ 2518 และ คน 6 ตุลา 2519 ซึ่งพวกเขาเริ่มชุมนุมเรียกร้องตั้งแต่สมัยรัฐบาลของบรรหาร ศิลปอาชา จนถึงยุคของชวน หลีกภัย 2
โดยชุมนุมอยู่ถึง 99 วัน มีการเปิดการต่อรองเจรจาทุกวัน จนคนเต็มพื้นที่สนามหลวงสูงสุด 50,000 คน และในที่สุดการเจรจากับรัฐบาลก็บรรลุข้อตกลงถึง 18 ข้อ อันได้แก่สวัสดิการพื้นฐานของแรงงาน เช่น สิทธิการประกันสังคม สิทธิการลาคลอดบุตรของผู้หญิง เป็นต้น
และยังผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับที่หลายคนพูดกันว่าดีที่สุด(ส่วนตัวผมคิดว่ายังพัฒนาให้ดีขึ้นได้อีก) คือ รัฐธรรมนูญปี 2540 ถามว่ามันดีมั้ย ในบริบทของสังคมไทยตลอดมานั้นไม่มีรัฐธรรมนูญไหนที่ประชาชนคนไทยมีสิทธิเลือกตั้งและใช้อำนาจของตนเองได้ 100% เท่ากับรัฐธรรมนูญนี้มาก่อน เป็นครั้งแรกที่คนไทยมีสิทธิเลือกตั้ง สว. (ปกติสว.จะถูกแแต่งตั้งมาตลอด หรือแต่งตั้งบางส่วน ไม่เคยมีการเลือกตั้งสว.จากประชาชน 100% จนกระทั่งรัฐธรรมนูญปี 2540) รัฐธรรมนูญของปี 2540 คือ รัฐธรรมนูญที่เข้าถึงหลักการว่า ประชาชนคือเจ้าของอำนาจแห่งปฐมภูมิ เป็นรัฐธรรมนูญแรกและรัฐธรรมนูญเดียว
การกำเนิดช่องโทรทัศน์เอกชนช่องแรก หรือ ITV ปี 2539 อย่างที่ผมเคยเขียนหลายครั้ง สมัยก่อนช่องทางการสื่อสารทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ถูกควบคุมโดยกองทัพทั้งหมด ไม่มีช่องทางสื่อสารของเอกชนเลย จนกระทั่งเหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่กองทัพสูญเสียอำนาจและความชอบธรรมอย่างมาก ทำให้อำนาจกองทัพที่เคยแทรกแซงการเมืองได้ตลอดสูญเสียไปให้แก่เอกชนไม่น้อย หนึ่งในนั้นคือการสื่อสารที่จัดถ่ายทอดโดยเอกชน
นี่คือ Background คร่าวๆ ของ ปี 2540 สรุปคือ เป็นช่วงเวลาที่ต้นกล้าแห่งเสรีภาพเริ่มเปล่งบาน ขณะเดียวกันกับที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจทำให้จำเป็นต้องใช้ความเป็นชาตินิยมแบบอ่อนๆ ในการจูงใจให้คนไทยเก็บออมเงินรวมถึงพยายามใช้ของไทยและเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจฟองสบู่ ปี 2540-2541(ค.ศ.1998) GDP ติดลบ 8-9%
อย่างที่ผมเคยอธิบายเรื่อง GDP ว่า GDP = C + G + I + (X - M)
จากสูตร GDP จะเห็นว่าวิธีจะลดการติดลบ ก็คือ ลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ หรือก็คือตัวแปร M และขณะเดียวกันก็พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจในไทยด้วยการให้ใช้ของไทยและเที่ยวเมืองไทย เพื่อเพิ่มตัวแปร I หรือการลงทุนภาคเอกชนในประเทศ เพื่อเป็นการกระตุ้น GDP ให้มากขึ้น
ส่วนเรื่องตัวละคร
อลิซ เป็นครูต่างชาติที่ผิดวิสัยของคนต่างชาติไปหน่อยนะครับ ต่างชาติจะถือสิ่งที่เรียกว่า หน้าที่และความรับผิดชอบเป็นสำคัญ การ Complain&Comment ถือเป็นเรื่องปกติเข้าใจได้เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ดีขึ้น แต่การควักเงินของตนเองเพื่อประโยชน์สาธารณะอันนี้มันแปลกไปหน่อย เพราะต่างชาติจะถือว่าทรัพย์สินส่วนตัว กับ ทรัพย์สินส่วนรวมต้องแยกกันให้ขาด จะเอามาปนกันไม่ได้ มันผิดหลักพื้นฐานของการบัญชี(ต่างชาติเขาเรียนบัญชีพื้นฐานตั้งแต่ Highschool แล้ว) หน้าที่การซ่อมสิ่งของเครื่องใช้ของโรงเรียน ย่อมเป็นหน้าที่ของผอ.โรงเรียนที่จะต้องจัดซื้อจัดจ้างผรม.มาทำงานนี้
ในความคิดผม อลิซควรเป็นตัวละครที่เป็นตัว Support ตัวละครหลักอีกตัว
ลีน่า ผมว่าเป็นครูที่ไม่เคารพสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเลยนะครับ คำว่า "โง่ภาษาอังกฤษเนี่ย เป็นโสเภณียังไม่ได้เลย" นี่คือการดูถูกความเป็นมนุษย์อย่างถึงที่สุดเลยนะครับ และเป็นการดูถูกเหยียดหยามความเป็นมนุษย์ของคนที่มีอาชีพเป็น Sex Worker ต่อให้เป็นอาชีพ Sex Worker, คนเก็บขยะ หรือแม้แต่คนดูดส้วม พวกเขาก็คือคนที่ทำงานหาเลี้ยงชีพไม่ได้แตกต่างจากคนปกติ พวกเขาไม่ได้ไปเบียดเบียนเอาเปรียบใครนะครับและเป็นอาชีพที่สุจริต พวกเขาไม่ใช่มนุษย์เหรอถึงพูดแบบนี้ได้ และยิ่งบริบทคือปี 2540 ที่เป็นรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชนมากที่สุด มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เจ้าหน้าที่รัฐจะหลุดปากพูดอะไรแบบนี้ออกมา จริงอยู่ว่าครูที่อายุประมาณ 50 ซึ่งผ่านช่วงสมัยโฆษณาชวนเชื่อภัยคอมมิวนิสต์มาจะติดนิสัยการใช้อำนาจนิยม แต่การที่พูดดูถูกอาชีพของคนอื่น อันนี้ไม่สอดคล้องกับบริบทสังคม ยิ่งถ้าตัวละครอย่างลีน่าคือฝ่ายธรรมะ ยิ่งไม่ควรหลุดพูดคำพูดนี้ออกมา
จริงๆ ผมมองว่าลีน่าควรจะเป็นคนที่เป็นตัวแทนปกป้องสิทธิผู้หญิงและเด็กเสียด้วยซ้ำจากการใช้อำนาจนิยมแบบผิดๆของตัวละคร Antagonist(ตัวร้าย)อย่างผอ.โรงเรียน อะไรแบบนี้
รุ้ง ด้วยความที่เป็นลูกเกษตรกร นั่นหมายความว่า พ่อแม่ของรุ้งควรจะมีส่วนร่วมกับ สมัชชาคนจน และส่งผ่านแนวคิดของสมัชชาคนจนมายังรุ้ง
ฟูจิ ด้วยการเป็นคนไทยเชื้อสายจีน และย่าเป็นคนจีนแท้ แสดงว่าคุณย่าน่าจะอยู่ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 อาจจะหนีสงครามโลกมา ถ้าหนีมาหลังจากนี้ คือ ปี 2500-2516 อันนี้จะลำบาก เพราะ ประเทศไทยยุคนี้มองว่าคอมมิวนิสต์คือภัยต่อความมั่นคงร้ายแรงและทำการปราบปรามอย่างรุนแรง
ทอย บทบาทตัวละครนักเลงมันซ้ำกับฟูจิครับ ตัวละครใดๆ พยายามอย่าให้บทบาทของเขาซ้ำกัน พยายามแยกให้ออกและเห็นเด่นชัด ไม่งั้นคนจะจำไม่ได้และเผลอๆจะสับสนกับตัวละครอีกคนที่มีลักษณะคล้ายกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นนักเลงก็ได้ครับ
ปิ่ม พยายามเพิ่ม Background มากกว่านี้หน่อยครับ มันน้อยเกินไปจริงๆ
สิน อันนี้มีความขัดแย้งนิดๆนะครับ คำว่า "แต่บางอย่างก็ดูเผด็จการพอตัว" อันนี้ขัดแย้งกับแนวคิดการทำแท้งถูกฏหมายนะครับ คือ เราต้องเข้าใจความหมายของ เผด็จการ กับ ก้าวหน้า เสียก่อน
แนวคิดของเผด็จการ คือ แนวคิดของอำนาจนิยม คือ การชื่นชอบกับการใช้อำนาจที่ตนเองมีกับคนอื่น บังคับให้คนอื่นจะต้องทำตามใจตนเอง ชอบให้คนอื่นเคารพตนเองแต่ตนเองไม่ต้องเคารพผู้อื่น
ซึ่งมันตรงกันข้ามกับแนวคิดของเสรีนิยม คือ การมองมนุษย์เท่ากัน มองว่าคนทุกคนต่างก็มีอำนาจเท่าๆกันแต่ต่างกันในรูปแบบหน้าที่และความรับผิดชอบที่ไม่เหมือนกัน การเอาใจเขามาใส่ใจเรา
การที่สนับสนุนให้ Sex Workers มีที่ยืนในสังคม ส่งเสริมให้ผู้หญิงทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย มันคือคนที่มองมนุษย์อย่างเท่ากัน ซึ่งตรงกันข้ามกับแนวคิดของเผด็จการโดยสิ้นเชิงที่จะสนใจแต่ตัวเอง
แนวคิดเผด็จการ คือ แนวคิดการแบ่งขาวแบ่งดำชัดเจน จะมองตนเองคือสีขาว และใครก็ตามที่คิดไม่เหมือนคือสีดำ และพวกเขาเหล่านั้นจะคิดว่าการขจัดสีดำออกไปคือหน้าที่ของเขา
ขณะที่แนวคิดแบบเสรีนิยม จะมองโลกแบบสีเทา มนุษย์มีทั้งดีและชั่วในตัวเอง ดังนั้นสิ่งที่เสรีมนุษยนิยมจะทำคือ การทำความเข้าใจและสนับสนุนให้คนที่ถูกผลักเป็นสีดำให้มีที่ยืน
ดังนั้นการที่บอกว่า สิน มีแนวคิดมองมนุษย์เท่ากัน แต่ก็มีความผิดเผด็จการในเวลาเดียวกัน อันนี้มันดูย้อนแย้งเกินไป
ควรใช้คำว่า สิน มีนิสัยการตัดสินใจที่แน่วแน่ ไม่ลังเล หรือ ภาษาต่างประเทศจะใช้คำว่า Decisive ซึ่งตรงข้ามกับนิสัยลังเล คือ Indecisive ไม่ใช่คำว่าแนวคิดเผด็จการ
จริงๆ ควรเขียนปูมหลังหรือ Background ตัวละครเป็นสมบูรณ์กว่านี้เสียก่อน จากนั้นค่อยกำหนด Trait หรือนิสัยของตัวละคร เพราะนิสัยของบุคคลใดๆ ย่อมหล่อหลอมมาจากสิ่งแวดล้อมที่เขาได้เติบโตมา