สหรัฐอเมริกา ไลบีเรีย และเมียนมา เป็นเพียง 3 ประเทศเท่านั้น ที่นิยมใช้หน่วยวัดอิมพีเรียลมากกว่าหน่วยวัดเมตริก ที่เป็นหน่วยวัดมาตรฐานที่ประเทศเกือบทั้งหมดของโลกใช้งานกัน
แล้วหน่วยวัดอิมพีเรียลคืออะไร ก็ขอยกตัวอย่างหน่วยที่ใช้วัดความยาว น้ำหนัก และระยะทางบนท้องถนน ที่เป็นฟุต ปอนด์ และไมล์ แทนที่จะเป็นเมตร กิโลกรัม และกิโลเมตร ที่เราคุ้นเคย
สำหรับประเทศใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา เหตุผลอะไรที่ทำให้พวกเขายังคงใช้หน่วยวัดอิมพีเรียลที่ได้รับมาจากอังกฤษตั้งแต่ยุคที่เป็นอาณานิคม คำตอบก็คือ สหรัฐอเมริกามีความพยายามที่จะใช้หน่วยวัดเมตริกมานานหลายศตวรรษแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เมื่อเกิดการปฏิวัติในฝรั่งเศส บรรดานักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสก็มองเห็นโอกาสที่จะจัดระเบียบหน่วยวัดภายในประเทศ ว่ากันว่าในฝรั่งเศสเพียงประเทศเดียว มีการใช้หน่วยวัดที่แตกต่างกันมากถึง 250,000 หน่วย
ดังนั้นสถาบันวิทยาศาสตร์ของฝรั่งเศสจึงสร้างหน่วยวัดที่เป็นมาตรฐานหนึ่งเดียวขึ้นมา โดยเริ่มที่หน่วยความยาวที่เรียกว่า เมตร ที่กำหนดให้ 1 เมตร เท่ากับความยาว 1 ใน 10,000,000 ของระยะทางจากขั้วโลกเหนือไปยังเส้นศูนย์สูตร ซึ่งความยาวหน่วยเมตรก็เป็นพื้นฐานให้กับหน่วยวัดน้ำหนัก ปริมาตร และหน่วยวัดอื่น ๆ ของหน่วยวัดเมตริกในเวลาต่อมา
หน่วยวัดเมตริกได้รับการเผยแพร่และเป็นที่นิยม ก่อนที่จะเป็นมาตรฐานของโลก ไม่เว้นแม้แต่สหรัฐอเมริกา สิ่งที่น่าสนใจคือ สหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้ปิดกั้นการใช้หน่วยวัดเมตริกแต่อย่างใด
อย่างเช่นในปี 1866 ที่มีการออกกฎหมายอนุญาตให้ใช้หน่วยวัดเมตริกในเชิงพาณิชย์ได้ รวมถึงในปี 1875 สหรัฐอเมริกาได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยมาตรวัด (Treaty of Meter) ร่วมกับเยอรมนี รัสเซีย และฝรั่งเศส เพื่อเปิดทางให้สหรัฐอเมริกาเปลี่ยนมาใช้หน่วยวัดเมตริกมากยิ่งขึ้น
ที่สำคัญตั้งแต่ทศวรรษ 1970 รัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ก็ได้พยายามผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมและประชาชนทั่วไปหันไปใช้หน่วยวัดเมตริก
ในเมื่อสหรัฐอเมริกาดูเหมือนจะสนับสนุนหน่วยวัดเมตริก แล้วทำไมหน่วยวัดนี้ยังไม่ได้รับความนิยมอยู่ดี เหตุผลแรกก็คือ การผลักดันให้คนอเมริกันใช้หน่วยวัดเมตริก เป็นความสมัครใจมากกว่าการบังคับใช้ทางกฎหมาย
เหตุผลต่อมาก็คือ ตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม บรรดาเจ้าของกิจการและโรงงานอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ ก็ได้ต่อต้านการใช้หน่วยวัดเมตริกมาโดยตลอด เพราะเครื่องจักรในโรงงานใช้หน่วยอิมพีเรียล สินค้าอุปโภคบริโภคที่ผลิตออกมาก็อ้างอิงจากหน่วยอิมพีเรียล และคนงานที่ได้รับการฝึกอบรมมา ก็คุ้นชินกับหน่วยอิมพีเรียล ดังนั้นการเปลี่ยนมาใช้หน่วยวัดเมตริกจึงเปรียบเสมือนการเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก
นอกจากนี้หลายคนยังมองว่า การเปลี่ยนมาใช้หน่วยเมตริก เป็นการแทรกแซงของรัฐบาลกลางที่มีต่อรัฐต่าง ๆ พวกเขามองว่า สหรัฐอเมริกาควรคงไว้ซึ่งระบบหน่วยวัดที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนไว้ เพื่อให้แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ และแสดงสถานะของประเทศที่เป็นผู้นำมากกว่าผู้ตาม
ส่วนประเทศต้นแบบของหน่วยวัดอิมพีเรียลอย่างอังกฤษหรือสหราชอาณาจักร ก็ได้เปลี่ยนมาใช้หน่วยวัดเมตริกในปี 1965 จากการเข้าร่วมสหภาพยุโรปที่ชาติสมาชิกใช้หน่วยวัดเมตริก
อย่างไรก็ตามเมื่อสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป ก็มีคนบางกลุ่มเรียกร้องให้สหราชอาณาจักรเลิกใช้หน่วยวัดเมตริกแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ปัจจุบันสหราชอาณาจักรก็ใช้ทั้งหน่วยวัดเมตริกรวมถึงหน่วยวัดอิมพีเรียลในบางกรณี
-----
อ้างอิง
• Nat Geo. Here's the real reason the U.S. doesn't use the metric system.
https://www.nationalgeographic.com/history/article/metric-system-imperial-measurement-history-us-america?fbclid=IwY2xjawF0oW1leHRuA2FlbQIxMAABHahFnNXcTAmUnrgVMx72CoKBP7dM0MhDwCmH9P6_XbDb_-nw1IyjHz9kXg_aem_CKlXeCzhHPZQweVMoalueA• Britannica. Why Doesn’t the U.S. Use the Metric System?
https://www.britannica.com/story/why-doesnt-the-us-use-the-metric-system?fbclid=IwY2xjawF0oXJleHRuA2FlbQIxMAABHXdivB9VOqBbvfz0ETtHIuDmUJyNQJi9MrnUlhrEXZ-1LRU75IHJx7KjVQ_aem_YsZ_8iPRPNdGwsWOnbj5rghttps://web.facebook.com/photo/?fbid=1077597521039363&set=a.439959818136473