แหล่งนิยายแปล แหล่งนิยาย นิยายแปล นิยายแต่ง มังงะ การ์ตูน อนิเมะ นายท่าน เว็บไซต์นายท่าน กระทู้สไลม์ สไลม์ยอดรัก

ผู้เขียน หัวข้อ: Love Hina กับตำนาน “เยนละบาท” และกำเนิดวัฒนธรรมโอตาคุไทย  (อ่าน 591 ครั้ง)

ออฟไลน์ moneyisgod

  • เครื่องปั้มแห่งห้องรับแขก
  • ยอดขุนพลหมี
  • *****
  • กระทู้: 5,169
  • ถูกใจแล้ว: 3152 ครั้ง
  • ความนิยม: +327/-2


วัฒนธรรมโอตาคุไทย
....

มิตรสหายท่านหนึ่งจัด Podcast เรื่อง อาจารย์เคน อาคามัตสึ ส.ว. จากการเลือกตั้งของญี่ปุ่น และพูดถึงการ์ตูนที่เป็นตัวเปิดตำนานหลาย ๆ อย่าง ทั้งในระดับวงการมังงะและอนิเมะของโลก และของประเทศไทย เลยอยากเขียนถึงเสียหน่อย (ลิงค์ฟัง Podcast อยู่ในความเห็นนะครับ)

เรื่องนั้นคือ "บ้านพักอลเวง" Love Hina ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นต้นกำเนิดของการ์ตูนใน Genre "ฮาเร็ม" คือตัวเอกหญิงหลายตัว และพระเอกเป็นไปได้ที่จะลงเอยกับตัวละครหญิงสักคน คนไหนก็ได้ ยิ่งผู้เขียนถ่ายน้ำหนักตัวละครดี ๆ ให้มีความเป็นไปได้ก้ำกึ่ง มีกองอวยตามเชียร์ตัวละครแต่ละตัว เรื่องยิ่งสนุกขึ้นและประสบความสำเร็จมากขึ้น

Love Hina เล่าถึงเด็กหนุ่มคนหนึ่ง อุราชิมะ เคทาโร่ ที่เคยสัญญากับเด็กผู้หญิงปริศนาในวัยเด็กว่า “เขาว่าถ้าคู่รักกันได้ไปเรียนโตได (มหาวิทยาลัยโตเกียว) ด้วยกัน ชีวิตจะมีความสุข งั้นโตไปเราเข้าโตไดด้วยกันนะ !”

คำสัญญานี้ทำให้เขายึดติด สอบเข้าโตไดซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงสามปีซ้อน จนถูกไล่ออกจากบ้าน และมาพักที่โรงแรมเก่าของคุณย่า ที่ปัจจุบันเป็นหอพักหญิงล้วนไปเสียแล้ว

จริง ๆ เรื่องนี้มีนางเอกชัดเจนอยู่แล้วตั้งแต่ต้น คือ นารุเสะงาวะ (คนเด่นขวาสุด) กับอีกหนึ่งสาวที่เป็นไปได้ คือ โอโตฮิเมะ มุตสึมิ สาวซุ่มซ่ามที่อยากเข้าโตไดเพราะสัญญากับใครคนหนึ่งไว้ ซึ่งจากอายุและภูมิหลังจะเหมือนพระเอกเลย

ที่แซงมาและเป็นเบอร์สองรองจากนารุ คือเด็กสาว ม.ต้น มาเอะฮาระ ชิโนบุ ที่น่ารักสุด ๆ แบบที่พูดว่าเป็นเบอร์สองก็ไม่ได้สักเท่าไร เพราะมันมีกองเชียร์ชิโนบุกับนารุเกือบพอ ๆ กัน มากกว่ามุตสึมิ เสียอีก

ส่วนตัวละครอื่นเกือบเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นนางเอก เช่น สาวรุ่นพี่ขี้เมา สาวต่างชาติ สาวเคนโด้ แต่อย่างไรก็ตาม ความ “ฮาเร็ม” คือ เหมือนสาว ๆ ทุกคนจะมีใจให้ตัวเอก

การ์ตูนมังงะและอนิเมะเรื่อง Love Hina นี้ ยังเป็นเหมือนเป็นตำนานกำเนิดวิถีชีวิตแบบ “โอตาคุ” และการตลาดสำหรับโอตาคุในเมืองไทยด้วย

เพราะในตอนที่การ์ตูนเล่มนี้พิมพ์ทั้งภาษาไทยและญี่ปุ่น คือราว พ.ศ. 2542 – 2543 คน Generation X ที่เกิดช่วง 2510 - 2520 เข้าสู่ตลาดงานได้สักพัก มีอายุงานกันประมาณ 5 ปีขึ้นไป ซึ่งพ้นสภาพความเป็น First Jobber แล้ว

กลุ่มคน Gen X นี้โตมากับการอ่านการ์ตูนแบบเซนต์ เซย่า ดรากอนบอล เล่นเกม Famicom นั้น ส่วนหนึ่งก็ยังอ่านการ์ตูนและเล่นเกมอยู่ แต่ด้วยเงินในมือที่มีมากขึ้น ทั้งยังเป็นเงินของตัวเอง ที่อยากได้เครื่องเล่นเกมหรือของเล่น ก็ไม่ต้องให้พ่อแม่ซื้อให้หรือต้องขออนุมัติใคร รวมถึงคนส่วนใหญ่ในสมัยนั้น อายุประมาณ 25 – 30 ปี ก็ยังไม่ค่อยจะเข้าสู่วัยแต่งงานมีลูก เมื่อมีรายได้เป็นของตัวเองมากพอสมควร จึงเอาไปใช้ชีวิตแบบ "ฟุ่มเฟือยนิดหน่อย" ได้

สำหรับบางคน จึงสามารถ "จ่าย" เพื่องานอดิเรกนี้กันได้หนัก ๆ ในช่วงนั้นที่สะพานเหล็ก มีผู้ใหญ่วัยทำงานไปซื้อเครื่องเกม PS2 ที่เพิ่งออกใหม่ราคาสองหมื่นกว่าบาทกันได้หน้าตาเฉยมากขึ้น

อำนาจซื้อของคน Gen X ที่ว่านี้ส่งผลต่อวงการของสะสมจากอนิเมะหรือมังงะก็เช่นกัน และ Love Hina นี้เอง ที่ทำให้เกิดตำนาน “เยนละบาท” ในวงการผู้ชื่นชอบการ์ตูนเรื่องนี้

ในตอนนั้น จะมีสินค้าจากการ์ตูนเรื่องนี้หลายอย่าง เช่น พัด ผ้าเข็ดตัว กระดาษลายต่าง ๆ หรือฟิกเกอร์ ตุ๊กตุ่นตุ๊กตาต่าง ๆ ขายที่ประเทศญี่ปุ่น บางชิ้นก็มีขายในจำนวนหรือช่วงเวลาที่จำกัด

ดังนั้น โอตาคุชาวไทยที่อยากได้สินค้าจากการ์ตูนเรื่องนี้ ก็ยอมจ่ายเงินซื้อสินค้าพวกนั้นที่มีคนเอามาขาย ในราคา 1 เงินบาทเท่ากับ 1 เยน เช่น พัดลาย Love Hina อันละ 1,000 เยน ก็ยอมซื้อในราคา 1,000 บาท ส่วนฟิกเกอร์หลักหลายพันหรือหมื่นเยน ก็มีคนยอมสู้

เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ คือในปัจจุบันนี้ ถ้าเราต้องซื้อเครื่องเกม Playstation 5 ในอัตรานี้ เราต้องจ่ายเงินถึง 40,000 – 50,000 บาทเลย เรียกว่าราคารีเซลชิดซ้าย

นี่คือ “ตำนานเยนละบาท" หรือ “เยนละบาทก็ยอมสู้”

ในสมัยประมาณ พ.ศ. 2543 ที่เงินเดือนเริ่มต้นคนจบปริญญาตรี อัตราราชการอยู่ที่ 6,360 บาท ส่วนภาคเอกชนอยู่ที่ประมาณ 12,000 – 15,000 บาท

ที่ราคามันแรงเช่นนี้ เพราะสมัยนั้นอยากได้สินค้าหรือของที่ระลึกจากเกมหรือจากการ์ตูนแบบนี้ต้องหาคน “หิ้ว” มาจากญี่ปุ่น ใครมีญาติโยมอยู่ที่นั่นหรือจะไปเที่ยว ก็ฝากกันซื้อหรือสั่ง ฝากหิ้วเข้ามา

ตลาดของเล่นแบบนี้ก่อนหน้านี้ มันไม่ใหญ่จนมีใครนำเข้าจริงจัง หรือถ้ามีก็เป็นของทำเลียนแบบเกรดต่ำเอามาให้เด็ก (จริง ๆ) เล่นแบบถูไถ ไม่ใช่แบบซื้อมาใส่ตู้ตั้งโชว์เหมือนสมัยนี้ ดังนั้นคนที่หาสินค้าแบบนี้มาขายได้ เลยตั้งราคากันได้ตามใจชอบ บวกกับเรื่อง Love Hina นี้ดังมาก ๆ เรียกว่าดีมานสูง ซัพพลายต่ำ คนที่ซื้อก็ยอมสู้แบบเยนละบาท ราคามันเลยพุ่งแบบเป็นตำนานกันไป

ซึ่งหลังจากนั้น ก็ทำให้เกิดการเปิดตลาดนำเข้าสินค้าจากอนิเมะและเกมกันมากขึ้นทั้งที่สะพานเหล็ก และห้าง MBK จนซัพพลายมากมีพอที่จะเริ่มตัดราคากัน จนในที่สุดสินค้าเหล่านั้นก็มีราคาที่สมเหตุสมผลมากขึ้น (แต่ก็ยังแพงอยู่ดี)

นี่คือตำนาน “เยนละบาท” ของ Love Hina

ในตอนนั้นที่ทำงานผมอยู่แถวพาหุรัด เลยไปเดินสะพานเหล็กทุกวัน บางทีทำตัวเหมือนเป็นผู้สื่อข่าว อัพเดทราคา ให้คนในเวบบอร์ดเกมและฮอบบี้ที่เป็นสมาชิกด้วย จึงค่อนข้างใกล้ชิดกับเหตุการณ์กำเนิดวงการโอตาคุนี้

และผมเองก็ลองอ่านการ์ตูนนี้ เพราะตำนาน “เยนละบาท” นี่แหละครับ คือไปสิงในเวบบอร์ดเกมและงานอดิเรก ก็พิศวงว่า ทำไมคนยอมสู้ราคากับสินค้าจากการ์ตูนเรื่องนี้ขนาดนี้วะ แต่พอลองอ่านเข้าไปเล่มนึงล่ะก็ ฮื้อหืออออ กูเข้าใจละ.

อนึ่ง ในช่วงเวลาที่เกิดปรากฏการณ์ Love Hina ที่ว่านี้ ก็เป็นช่วงที่เครื่องเล่นเกม PlayStation 2 กำลังจะออกวางจำหน่าย ซึ่งเครื่องเกม PS2 ก็ถือเป็นเครื่องเล่นเกมที่ขายได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นหมุดหมายของประวัติศาสตร์วงการเกมโลกเช่นกัน และสร้างอุตสาหกรรมวิดิโอเกมขึ้นมาเป็นหนึ่งในธุรกิจบันเทิงหลักของโลกจนทุกวันนี้

จึงอาจจะบอกได้ว่า การที่คน Gen X มีกำลังซื้อและส่งผลต่อธุรกิจบันเทิงเกมส์และการ์ตูนนี้ เป็นปรากฎการณ์ระดับโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย

เกร็ดนิดหน่อย คือ ในช่วงนั้น เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นฟูจากวิกฤติต้มยำกุ้ง คนเริ่มมีเงินใช้ไม่ตึงมือ ประเทศเริ่มดูมีความหวังมากขึ้น


https://web.facebook.com/photo/?fbid=440102194767214&set=a.399549242155843

 :-X :-X :-X :-X :-X :-X
 
เหล่าหมีที่ถูกใจสิ่งนี้: ggg001

ออฟไลน์ panuponk

  • แม่ทัพหมีชั้นสูง
  • ***
  • กระทู้: 2,703
  • ถูกใจแล้ว: 401 ครั้ง
  • ความนิยม: +35/-50
หลังจากนั้นตัวโคลนเพียบ
 

 

Tags:
แหล่งนิยายแปล แหล่งนิยาย นิยายแปล นิยายแต่ง มังงะ การ์ตูน อนิเมะ นายท่าน เว็บไซต์นายท่าน กระทู้สไลม์ สไลม์ยอดรัก