ป่าอาโอกิงาฮาระ (青木ヶ原樹海) หรือที่ขึ้นชื่อว่า "ป่าฆ่าตัวตาย" อยู่ที่ จ.ยามานาชิ บริเวณเชิงภูเขาไฟฟูจิ ซึ่งป่าแห่งนี้ก็กำเนิดขึ้นจากลาวาของภูเขาไฟฟูจินี่แหละ ในอดีตเป็นพื้นที่ที่ราชวงศ์ญี่ปุ่นเป็นเจ้าของ จนกระทั่งปี ค.ศ.1911 ได้ถูกมอบให้กับจังหวัดยามานาชิ
.
ตอนนั้น สำหรับจังหวัดยามานาชิ ป่าอาโอกิงาฮาระเหมือนเป็น "ของขวัญ" เลย ทางจังหวัดตั้งใจจะทำให้ผืนป่าแห่งนี้นี้สร้างความสุขให้ผู้คน และจะพัฒนาเพื่อให้ความงามของป่าเชิงเขาที่อุดมสมบูรณ์นี้เป็นที่ประจักษ์
.
แต่แล้วของขวัญก็กลับกลายเป็นฝันร้าย เมื่อมีคนมาฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปีที่พบศพสูงสุด คือ 105 ศพ
ป่าอาโอกิงาฮาระครอบคลุมพื้นที่ของหมู่บ้านไหน หมู่บ้านนั้นก็ต้องจัดการศพ ซึ่งแต่ละปีต้องเตรียมงบไว้สำหรับศพแปลกหน้าที่มาฆ่าตัวตาย
.
และพักหลังนี้ก็ยังเกิดปัญหาขยะด้วย อย่างก่อนหน้านี้ไม่นานมีข่าวที่กลายเป็นกระแสคือ มีคนปัสสาวะใส่ขวดแล้วทิ้งในป่าอาโอกิงาฮาระจำนวนมาก พอเวลาผ่านไปตอนนี้พลาสติกย่อยสลาย ปัสสาวะในขวดที่หมักมานานปีก็ส่งกลิ่นออกมาเหม็นคลุ้งไปทั้งป่า เจ้าหน้าที่ต้องทนกับกลิ่นปัสสาวะเหล่านั้นเพื่อกำจัดขยะ
.
ป่าอันอุดมสมบูรณ์ กลายเป็น "ป่าฆ่าตัวตาย" จนกลายเป็นแหล่งขยะได้อย่างไร ลองมาย้อนดูเรื่องราวกัน
------------------------------
.
หลังจากราชวงศ์ญี่ปุ่นมอบป่าอาโอกิงาฮาระให้กับจังหวัดยามานาชิในปี ค.ศ.1911
.
ในปี ค.ศ.1928 มีข่าวดังลงหนังสือพิมพ์
ชู้รักของอาจารย์โรงเรียนมัธยมปลายโตเกียว ถูกพบเป็นศพในถ้ำ ที่ป่าอาโอกิงาฮาระ
และพบศพอาจารย์คนดังกล่าว อยู่ห่างออกไปประมาณ 6 กม. อยู่ในสภาพแข็งตาย
ว่ากันว่า อาจารย์คนนี้พยายามฆ่าตัวตาย 2 ครั้ง หลังจากชู้รักตาย แต่เขาทำไม่สำเร็จ จนเหนื่อยล้าและแข็งตาย
.
นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นให้คนสนใจป่าอาโอกิงาฮาระ ในฐานะสถานที่ฆ่าตัวตาย
แต่ช่วงที่คนฆ่าตัวตายเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากผิดปกติ คือ หลังปี ค.ศ.1960
ซึ่งเป็นปีที่นวนิยายเล่มหนึ่งถูกตีพิมพ์
.
คนที่ฆ่าตัวตายในป่าอาโอกิงาฮาระ หลายๆ คนเสียชีวิตพร้อมมีนวนิยายเล่มนี้อยู่ข้างตัว ใส่ในกระเป๋าบ้าง เอามาหนุนนอนบ้าง
.
นวนิยายเล่มนั้น ชื่อว่า "นามิ โนะ โท (波の塔)" แปลว่า หอคอยแห่งคลื่น เขียนโดย มัตสึโมโตะ เซโจ (松本清張)
เป็นเรื่องราวของอัยการหนุ่มผู้ผดุงความยุติธรรม ที่ได้พบรักกับหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งแต่งงานแล้ว แต่เขาไม่ยอมเลิกกับเธอ จนต่อมาเขาได้สืบสวนคดีหนึ่ง และพบว่าหญิงสาวคนรักคือภรรยาของคนร้ายในคดี เมื่อคนร้ายรู้ว่าอัยการคบชู้กับภรรยาตัวเอง จึงฉวยโอกาสเอาเรื่องนี้มาปกปิดคดี ทำให้คนร้ายรอดจากคดีไป ส่วนอัยการถูกพักงาน อัยการหนุ่มยังคงเลือกหญิงสาวคนรักมากกว่าสิ่งอื่นใด เขาลาออกและนัดพบกับเธอ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่เขาเหลือในชีวิต
แต่สุดท้ายหญิงสาวไม่ได้มาพบที่จุดนัด เธอหายตัวไปในทะเลแห่งต้นไม้ ซึ่งภาษาญี่ปุ่นเรียกป่าอาโอกิงาฮาระ ว่า "ทะเลแห่งต้นไม้"
.
หลังจากหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ มีผู้หญิงฆ่าตัวตายในป่าอาโอกิงาฮาระเพิ่มขึ้น และสำนักพิมพ์ก็ได้รับการติดต่อจากตำรวจอยู้บ่อยครั้ง เพราะพวกเธอฆ่าตัวตายพร้อมหนังสือ "นามิ โนะ โท" อยู่ข้างกาย
.
จนในปี 1978 ป่าอาโอกิงาฮาระก็ขึ้นชื่อเรื่องสถานที่ฆ่าตัวตาย
หนังสือพิมพ์พาดหัวว่า “การฆ่าตัวตายในทะเลแห่งต้นไม้ หลุมศพหมู่ในฟูจิและอาโอกิงาฮาระ”
หมู่บ้านที่ตั้งของป่าอาโอกิงาฮาระต้องลงทุนทั้งเงิน ทรัพยากรมนุษย์ และที่ดิน ให้กับศพมากหน้าหลายตาจากทั่วประเทศ
.
ต่อมาปี 1993 มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า "คู่มือการฆ่าตัวตายฉบับสมบูรณ์ (完全自殺マニュアル)"
ได้อธิบายวิธีเดินทางไปยังป่าอาโอกิงาฮาระ และเขียนถึงสถานที่ที่ศพจะถูกพบได้ยาก
ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็ถูกพบอยู่กับศพรายหนึ่งในป่าอาโอกิงาฮาระ
.
แต่จริงๆ จุดประสงค์ของเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่ให้คนฆ่าตัวตายนะ แต่ต้องการให้คนที่กำลังรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย กลับมาใช้ชีวิตอย่างสบายใจ ซึ่งมีข้อมูลว่าช่วงที่หนังสือตีพิมพ์ อัตราการฆ่าตัวตายลดลงด้วย
.
อย่างไรก็ตาม การอธิบายวิธีเดินทางไปยังป่าอาโอกิงาฮาระในหนังสือเล่มนี้ ยิ่งทำให้ป่าอาโอกิงาฮาระมีชื่อเสียงในฐานะสถานที่ฆ่าตัวตาย พร้อมกับยุคของอินเทอร์เน็ต ทำให้ข้อมูลแพร่กระจายออกไป
.
ในป่าอาโอกิงาฮาระมีศพซ่อนอยู่มากมาย ขนาดที่ว่าถ้าไปป่าอาโอกิงาฮาระบ่อยๆ สัก 4 ครั้ง จะต้องเจอศพสักครั้งนึง
.
อาจเจอศพกองอยู่กับพื้น ศพที่เน่าเฟะหรือโครงกระดูก หรืออาจพบศพที่ผูกเชือกห้อยลงมาจากต้นไม้ ขาต่องแต่ง บางศพก็กลายเป็นกระดูกไปแล้ว มีเพียงเชือกเปล่าๆ ห้อยอยู่ พื้นบริเวณใต้เชือก มีกองโครงกระดูก ส่วนกะโหลกศีรษะกลิ้งหายไป
.
และยังมีสัมภาระต่างๆ ที่ถูกทิ้งไว้ รถยนต์ เต็นท์ แผนที่ หนังสือแนะนำการฆ่าตัวตาย หนังสือวิธีผูกเชือก ฯลฯ
.
ทางจังหวัดยามานาชิพยายามเปลี่ยนภาพลักษณ์ของป่าอาโอกิงาฮาระ รวมถึงหามาตรการป้องกันการฆ่าตัวตาย เช่น ตั้งป้ายเตือนสติไว้ตามจุดต่างๆ ในป่าอาโอกิงาฮาระ
ปัจจุบันคนฆ่าตัวตายในป่าอาโอกิงาฮาระน้อยลง คาดว่าไม่ถึง 30 คนต่อปี แต่ยังคงมีศพมากมายสะสมอยู่ในป่าอาโอกิกาฮาระ
.
ซึ่งก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่มีงานอดิเรกคือการเดินเข้าป่าอาโอกิงาฮาระ เพื่อค้นหาศพ
------------------------------
เอาจริงๆ แล้วความน่ากลัวของป่าแห่งนี้ อาจไม่ใช่คนมาฆ่าตัวตายเยอะก็ได้นะ ลองคิดดูว่าในจำนวนทั้งหมดมีกี่ศพที่ "ฆ่าตัวตายจริงๆ"
.
เพราะสถานที่แห่งนี้ขึ้นชื่อไปแล้วว่าเป็นป่าฆ่าตัวตาย ฆาตกรก็สามารถใช้โอกาสนี้เอาเหยื่อมาทิ้ง แล้วทำให้ดูเหมือนฆ่าตัวตาย
.
ชายคนหนึ่งที่มีงานอดิเรกในวันเสาร์อาทิตย์ คือการไปค้นหาศพในป่าอาโอกิงาฮาระ เล่าว่าเคยพบศพมามากกว่า 100 ศพ ซึ่งมีบางศพที่อยู่ในสภาพผิดธรรมชาติ
.
ชายหนุ่มวัย 20 กว่า แขวนคอจากต้นไม้ ร่างกายส่วนบนเปลือยเปล่า ไม่มีใครเข้าป่าที่เย็นชื้นโดยไม่ใส่เสื้อ มิหนำซ้ำตอนนั้นเป็นฤดูใบไม้ผลิ อากาศในป่ายิ่งหนาวมาก
ร่างของชายคนนั้นสวมเพียงกางเกงยีนส์ รองเท้าก็เหลือเพียงข้างเดียว
ต้นไม้นั้นสูงเกินกว่าจะผูกคอด้วยตัวเอง ด้านล่างไม่มีสิ่งของที่ใช้ขึ้นไปยืนผูกคอ
สิ่งที่พันรอบคอคือผ้าเช็ดตัว ผูกกับเชือกยาง แล้วแขวนบนต้นไม้ ดูลำบากเกินไปที่จะพันด้วยตัวเอง
และผ้าเช็ดตัวก็พันไว้หลวมๆ ไม่มีทางทำให้ขาดอากาศหายใจได้
ร่างกายมีรอยจ้ำมากมาย
.
นี่อาจเป็นหนึ่งในศพที่ถูกฆ่า แต่ถูกอำพรางให้เหมือนฆ่าตัวตาย
.
นอกจากการอำพรางศพ ป่าอาโอกิงาฮาระก็เป็นสถานที่ชั้นดีในการทำลายหลักฐานอาชญากรรม
ในป่ามีกระเป๋าสตางค์ถูกทิ้งไว้จำนวนมาก ซึ่งข้างในไม่มีเงินสดของมีค่าหลงเหลือ เป็นเพียงกระเป๋าที่โจรเอามาทิ้งไว้
--------------------------------
ป่าอาโอกิงาฮาระ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางธรรมชาติแห่งชาติ
เป็นป่าดิบที่ก่อตัวจากลาวาที่ปะทุจากภูเขาไฟฟูจิในปี ค.ศ. 864 หรือประมาณ 1,200 ปีที่แล้ว
ป่ามีขนาดใหญ่มาก มอส เฟิร์น และต้นไม้ขึ้นหนาแน่น เขียวขจี สวยงามมาก มีนก มีสัตว์ป่า มีพืชพรรณนานาชนิด
.
เป็นสถานที่ทางธรรมชาติที่แนะนำให้ไปเลย สามารถไปเดินป่าได้ ปัจจุบันมีทางเดินสำหรับศึกษาธรรมชาติสร้างขึ้นอย่างดี แนะนำให้ไปเยี่ยมชมถ้ำลมฟุกาคุ เป็นถ้ำที่เคยใช้เป็นโกดังแช่แข็งตามธรรมชาติ อุณหภูมิภายในถ้ำอยู่ระหว่าง 0 ถึง 3 องศาเซลเซียสตลอดทั้งปี แม้ในฤดูร้อนก็มีน้ำแข็งย้อยให้ชม
.
การเดินทาง : จากสถานีรถไฟ Kawaguchiko นั่งรถบัสประมาณ 30 นาที ลงที่ป้าย Saiko-komoriana จะมีจุดให้ข้อมูลการเดินป่า
.
.
.
https://web.facebook.com/photo/?fbid=690601823242019&set=a.574501861518683https://news.livedoor.com/article/detail/22663318/?fbclid=IwAR2qeYeHNhLwfMXK8IgJ3GfM89Pn_nRsp9A-xOXCc0Mq0mnU2PlGu1UVTrAhttps://www.yamanashi-kankou.jp/aokigaharajukai/?fbclid=IwAR0U88vH0ED4SLnBug6aNk8m0-isAXCypqiQfdJ2HroOkg85yDquCmZGb_0https://dowellbydoinggood.jp/contents/travel/805/?fbclid=IwAR0PHsyT9C57E6_FzMlMWSt4vbXA6NsvhuskaSuxDseypU4fNS0m4ZBsKuAhttps://bunshun.jp/articles/-/46601?fbclid=IwAR0D23Drx-IrolT8M9EN4ByFscAunjER17CIgiUsWXX6k3GVEOIZeDcwmRUhttps://tabi-and-everyday.com/archives/23124?fbclid=IwAR1SGU-B1FCvEy_8q4QY_l7OXAA1iMT9XzvIaLGa4yFVrKNjqFCi50Erulkhttps://books.j-cast.com/2020/05/12011650.html?fbclid=IwAR15rvpYdZrcHpm3WnGOCcxFvE0MnStX25VZ7LpkKoi1GpvX2kc5a-sWMEo