สมมติว่าคุณอยู่ในตลาดแห่งหนึ่งในอังกฤษช่วงศตวรรษที่ 17 คุณอาจจะเห็นชายคนหนึ่งที่กำลังป่าวประกาศขายอะไรสักอย่าง โดยมีหญิงคนหนึ่งที่มีเชือกผูกที่คอยืนอยู่ข้าง ๆ
ชายคนนี้ไม่ได้ขายสินค้าใด ๆ เพราะสิ่งที่เขาขายก็คือ ‘ภรรยา’ ของเขา
ระหว่างศตวรรษที่ 17 จนถึงกลางศตวรรษที่ 19 การประมูลขายภรรยาเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในอังกฤษ เหตุผลหลักที่สามีต้องขายภรรยา ก็เพราะการหย่าร้างในช่วงเวลานั้นทำได้ยากมาก
ตั้งแต่ช่วงยุคกลาง อำนาจของศาสนจักรคาทอลิกครอบงำในยุโรป การสมรสของคู่รักถูกเชื่อมโยงเข้ากับศาสนาเช่นกัน แต่สำหรับการหย่าร้าง ศาสนจักรกลับไม่อนุญาตให้คู่รักที่สมรสแล้วหย่าร้างได้
ทางเลือกที่ถูกใช้แทนการหย่าร้าง ก็คือการแยกกันอยู่ แต่ทั้งคู่ก็ยังคงสถานะสามีภรรยา และห้ามไปแต่งงานใหม่เด็ดขาด
การหย่าร้างที่ทำได้ยากคือเหตุผลที่ทำให้พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 (ที่ต้องการหย่ากับมเหสีคนแรก) นำอังกฤษแยกตัวจากศาสนจักร
แม้จะแยกตัวจากศาสนจักรแล้ว แต่การหย่าร้างในอังกฤษก็ทำได้ยากเหมือนเดิม เพราะต้องยื่นเรื่องหย่าร้างไปถึงรัฐสภาของอังกฤษ ซึ่งเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายที่สูงมาก มีบันทึกว่าการทำเรื่องหย่าร้างกับรัฐสภาต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 500,000-700,000 บาท หากตีเป็นเงินไทย
การหย่าร้างจึงถูกสงวนไว้สำหรับคนที่รวยเท่านั้น ดังนั้นการประมูลขายภรรยาก็เลยเกิดขึ้นมาในสังคมอังกฤษ
การประมูลขายจะเริ่มจากสามีพาภรรยาไปยังสถานที่สาธารณะอย่างเช่น ตลาด ร้านเหล้า หรืองานจัดแสดงสินค้า สามีอาจจะผูกเชือกที่คอ แขนหรือเอวเพื่อจูงภรรยา ซึ่งผู้ที่เสนอราคามากที่สุดและดีที่สุด ก็จะได้เป็นเจ้าของภรรยาไป
การกระทำแบบนี้ถือว่าผิดกฎหมายของอังกฤษ แต่กลับไม่มีใครสนใจและกลายเป็นค่านิยมของสังคมไปโดยปริยาย เพราะแม้แต่ผู้ที่รักษากฏหมายอย่างตำรวจ ก็มีบันทึกว่าขายภรรยาของตัวเองเหมือนกัน
การขายภรรยานอกจากเกี่ยวข้องกับการหย่าร้าง อาจเกี่ยวข้องกับการที่ฝ่ายสามีสงสัยว่าภรรยามีชู้ สามีก็จะบังคับให้ชายชู้ซื้อภรรยา
แม้จะดูเหมือนเอาเปรียบฝ่ายหญิง แต่ความจริงภรรยาก็ต้องให้ความยินยอมก่อน สามีถึงจะประมูลขายได้ บางครั้งภรรยาก็สามารถปฏิเสธผู้ซื้อ หรือให้เงินกับผู้ซื้อ เพื่อที่จะให้เธอหลุดพ้นจากอดีตสามี
การประมูลขายภรรยาหมดความนิยมในอังกฤษช่วงกลางศตวรรษที่ 19 จากเหตุผลด้านสิทธิมนุษยชน พร้อม ๆ กับที่อังกฤษออกกฎหมายพระราชบัญญัติสาเหตุการสมรส (The Matrimonial Causes Act) ในปี 1857 ที่ทำให้การหย่าร้างทำได้ง่ายขึ้น ทำให้ไม่ต้องมีการเร่ขายภรรยาแบบนี้ขึ้น
-----
*** References
• HISTORY. English Men Once Sold Their Wives Instead of Getting Divorced.
https://www.history.com/news/england-divorce-18th-century-wife-auction?fbclid=IwAR2X-UY3JOJtwCtdl8ez9Yjvyxw-zlr93H3kxhhl850dz0yJOyT-s8Jeqz0 ศิลปวัฒนธรรม. ทำไมสามีชาวยุโรปนิยม “ขายภรรยา” แทน “การหย่าร้าง” ในอดีต.
https://www.silpa-mag.com/history/article_70014?fbclid=IwAR338Eyri98JvK3YfnGxxfwbLtp58RqruI1fqkLStKvoi6VwGa7KL8pG3Ushttps://web.facebook.com/photo/?fbid=847409990724785&set=a.439959818136473