นักวิทย์ค้นพบ สาเหตุของอาการ “รำคาญเสียงเคี้ยวอาหาร” เกิดจากการทำงานของสมอง 2 ส่วน!!
เคยสังเกตตัวเองมั้ยว่าเวลาได้ยินเสียง “เคี้ยวอาหาร” ของคนอื่นแล้วมีความรู้สึกอย่างไรบ้าง?
สำหรับคนที่รู้สึกเฉยๆ ไม่ได้มีปัญหาอะไร ก็ถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากว่าทนไม่ไหว และรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่แย่มากๆ คุณอาจจะกำลังมีอาการที่ชื่อว่า misophonia อยู่ก็เป็นได้
อาการ misophonia นี้จะทำให้อวัยวะภายในของเรามีการตอบสนอง เมื่อได้ยินเสียงบางอย่าง (แบบเฉพาะเจาะจง) เช่น เสียงเคี้ยวอาหาร เสียงหายใจของคนอื่น เป็นต้น
จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเวลาได้ยินเสียงเคี้ยวอาหารของคนอื่น ผู้ป่วยจะรู้สึกรังเกียจ รู้สึกรำคาญ และอยากจะอาเจียนออกมา
จากงานวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัย Newcastle University ค้นพบสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเหล่านี้ขึ้น ซึ่งทั้งหมดมันเกี่ยวกับเรื่อง “กลไกการทำงานของสมอง” ของเราล้วนๆ!!
งานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ลงในวารสารประสาทวิทยา (Journal of Neuroscience) เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2021 ที่ผ่านมา
จากงานวิจัยพบว่าสมองส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับอาการ misophonia นั้นจะอยู่ที่ส่วนสมองกลีบขมับ ตรงส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยิน (Auditory Cortex) โดยเฉพาะ
และสมองส่วนหน้า ที่ควบคุมการขยับของกล้ามเนื้อส่วนปาก, ลำคอ, และใบหน้า ซึ่งทั้งสองส่วนนี้เป็นส่วนที่มีความเชื่อมโยงกับแบบ “ไวเป็นพิเศษ”
กล่าวคือสมองส่วนกลับขมับจะรับผิดชอบเรื่องของการประมวลผลเสียงต่างๆ ที่ได้รับมา ขณะที่ส่วนหน้า จะมีความเกี่ยวข้องกับการควบคุมการเคลื่อนไหวของอวัยวะ และกล้ามเนื้อต่างๆ
ซึ่งก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์คาดเดาว่า อาการ misophonia นี้เกิดจากปัญหาเกี่ยวกับการรับเสียงของสมองส่วนการได้ยินเพียงอย่างเดียว
จากงานวิจัยยังเปิดเผยอีกว่าจากผู้คนจำนวนกว่า 6-20% ของทั้งหมด จะมีอาการ misophonia เมื่อพวกเขาได้ยินเสียงเคี้ยวอาหาร หรือเสียงแบบเฉพาะเจาะจง จะทำให้รู้สึกไม่สบายใจ จนทำให้ร่างกายแสดงอาการต่างๆ ออกมา
อย่างไรก็ตามยังไม่มีการรักษาที่แน่นอน ซึ่งนักวิจัยเปิดเผยว่ามันอาจจะหายไปได้เองเมื่อต้องเจอกับเสียงเหล่านั้นบ่อยๆ หรือตัวผู้ป่วยจะหาวิธีในการรับมือกับอาการที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง
เรียบเรียงโดย #เหมียวหง่าว
ที่มา : unilad, skynews
https://www.catdumb.com/health-fitness/11209?fbclid=IwAR0S1NCAEFK_0kQwZpl-AEs12XMdgv30yOFjtVDVejcXqljdTfJ-o5SlFxY