ชื่อไทยว่า "ปาท่องโก๋" นั้นแผลงมาจากคำจีนว่า "白糖粿" ซึ่งสำเนียงหมิ่นหนานว่า "beh teung guai" และสำเนียงกลางว่า "ไป๋ถังกั่ว" (báitángguǒ) หรือจากคำจีนว่า "白糖糕" ซึ่งสำเนียงกวางตุ้งว่า "baahktònggòu" และสำเนียงกลางว่า "ไป๋ถังเกา" (báitánggāo) อย่างไรก็ดี ทั้ง "ไป๋ถังกั่ว" และ "ไป๋ถังเกา" ที่จริงแล้วเป็นชื่อของกินอีกชนิดทําด้วยแป้งข้าวเจ้ากับนํ้าตาลทราย รูปสี่เหลี่ยม เนื้อคล้ายขนมถ้วยฟู ภาษาไทยเรียก "ปาท่องโก๋" เช่นกัน ส่วนภาษาอังกฤษเรียก "white sugar sponge cake"
เล่ากันว่า ในประเทศไทยแต่ก่อนพ่อค้าขายโหยวเถียวและไป๋ถังกั่วในรถเข็นเดียวกัน แต่คนไทยนิยมโหยวเถียวมากกว่า และเข้าใจผิดว่าโหยวเถียวเรียกไป๋ถังกั่ว
ต่อมาเมื่อไป๋ถังกั่วขายไม่ออกจึงเลิกขาย ส่วนคนไทยก็เรียกโหยวเถียวผิดว่าไป๋ถังกั่วต่อไป จนในที่สุดเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า ไป๋ถังกั่วคือโหยวเถียว
ทีนี้มีการเอาโหยวเถียวมาแสดงเป็นสัญลักษณ์ของคู่แท้แบบกิ่งทองใบหยก
แต่ถ้ารู้ประวัติของมัน โหยวเถียวจะต้องเป็นผีเน่ากับโลงผุเท่านั้น
ชื่อจีนโดยทั่วไปของอาหารชนิดนี้ คือ "โหยวเถียว" (油條 yóutiáo) ในสำเนียงกลาง ซึ่งแปลว่า ท่อนแป้งทอดน้ำมัน (oil strip)
ชาวจีนภาคเหนือเรียกโหยวเถียวว่า "กั่วจึ" (餜子 guǒzi) ในสำเนียงกลาง แปลว่า ขนมทอด (pastry)
ชาวหมิ่นหนานเรียกว่า "โหยวจ๋ากั่ว" (油炸粿 yóuzháguǒ) ในสำเนียงกลาง, "อิ่วจาก้วย" ในสำเนียงแต้จิ่ว, "เหยาจากวั๋ย" (yàuhjagwái) ในสำเนียงกวางตุ้ง, และ "อิ่วเจี่ยโก้ย" (iû-chiā-kóe) ในสำเนียงฮกเกี้ยน แปลว่า ขนมทอดน้ำมัน (oil-fried pastry)
ชาวกวางตุ้งนิยมเรียกขนมชนิดนี้ซึ่งอ่านตามสำเนียงกลางว่า "โหยวจ๋ากุ่ย" (油炸鬼 yóuzháguǐ) แปลว่า ผีทอดน้ำมัน (oil-fried devil)
สำหรับที่มาของชื่อนี้นั้น ว่ากันว่า ในรัชสมัยพระเจ้าเกาจง (高宗) แห่งราชวงศ์ซ่ง
ฉิน ฮุ่ย (秦檜) อัครมหาเสนาบดี ได้วางแผนฆ่าเยฺว่ เฟย์ (岳飛) หรือสำเนียงแต้จิ๋วที่คนไทยคุ้นเคยคือ งักฮุย ข้าราชการทหารที่มีชื่อเสียง
หลังจากฉินฮุ่ยสิ้นชีวิตไปแล้วราษฎรที่ยังโกรธแค้นได้ปั้นแป้งเป็นตัวแทน ฉิน ฮุ่ย และภริยา ทอดจนพองแล้วเคี้ยวกินให้หายแค้น ภายหลังนิยมทำแป้งทั้งสองชิ้นติดกันตรงกลางสืบมาจนปัจจุบัน
ทั้งนี้ยังมีการตั้งรูปปั้นฉินฮุ่ยและภริยาไว้หน้าศาลงักฮุย ให้คนที่มาไหว้ได้ถ่มน้ำลายใส่
source : wikipedia